Month: November 2020

5 ตัวอย่างเทคโนโลยี IoT ที่กำลังมาแรงในอีก 5 ปีข้างหน้า

Posted on by admin_beacon_2024

IoT หรือ Internet of Thing หมายถึงอุปกรณ์หรือสิ่งของที่สามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเครือข่าย เช่น แอปพลิเคชัน (Application), ระบบ Cloud Storage และ Smart Device โดย IoT เป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าจับตามองและกำลังมาแรงในแวดวงธุรกิจ

 

ตลาด IoT กำลังเติบโต

รายงานจาก Fortune Business Insights ได้ทำการวิเคราะห์ตลาด IoT ทั่วโลก โดยสถิติพบว่า มูลค่าตลาด IoT ปี 2018 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 190 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจากการคาดการณ์ ในปี 2026 มูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงถึง 1,111.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตัวอย่างกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาด IoT

สำหรับผู้เล่นหรือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาด IoT แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน (Banking, Financial Services and Insurance หรือ BFSI) กลุ่มค้าปลีก (Retail) กลุ่มสุขภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงงาน กลุ่มเทคโนโลยีการสื่อสาร หน่วยงานภาครัฐ และสุดท้ายคือ ธุรกิจเกี่ยวกับการคมนาคม

ถึงแม้ว่าจะมีผู้เล่นในตลาดถึง 7 กลุ่ม แต่กลุ่มธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนตลาด IoT คือ กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 21.1% จากทั่วโลก โดยภาคธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จึงจำเป็นที่กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินต้องพัฒนาระบบ IoT เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการกับผู้บริโภค

IoT ครอบคลุมตลาดทั้งธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่

ไม่ใช่แค่เพียงธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่หันมาปรับใช้ IoT ภายในองค์กร แต่ธุรกิจขนาดเล็กทั้ง SME และ Startup ต่างก็ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย IoT ทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่แล้วธุรกิจขนาดเล็กนิยมใช้ IoT ในการจัดการข้อมูล รวมถึงใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

จากแนวโน้มทิศทางการเติบโตของมูลค่าตลาด IoT ในระดับโลก สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยี IoT กำลังเป็นสิ่งสำคัญต่อภาคธุรกิจในอนาคต ในบทความนี้จึงขอยกตัวอย่าง 5 เทคโนโลยี IoT ที่กำลังมาในอนาคต

 

ตัวอย่างเทคโนโลยี IoT ที่กำลังมาแรงในอีก 5 ปีข้างหน้า

เทคโนโลยี IoT ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อภาคธุรกิจและภาครัฐ รวมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ สามารถแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ ตามกลุ่มตลาด IoT ดังนี้

1. เทคโนโลยี Smart City

เทคโนโลยี Smart City เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารของหน่วยงานรัฐ โดยอีก 5 ปีข้างหน้า เมืองใหญ่ในหลายประเทศจะพัฒนาเมืองให้ทันสมัยเป็น Smart City ด้วยการเชื่อมต่อเมืองเข้ากับระบบ IoT และ Data

ตัวอย่างเทคโนโลยี IoT กับการพัฒนาเมืองสู่ Smart City มีดังนี้

  • Smart Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเชื่อมต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี ช่วยคำนวณพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของแต่ละพื้นที่ แก้ปัญหาการจ่ายกระแสไฟฟ้าไม่พอ ลดปัญหาไฟฟ้าดับ
  • Transportation การพัฒนาระบบขนส่งด้วย IoT ช่วยแก้ไขหลากหลายปัญหาบนท้องถนน ทั้งรถติดและที่จอดรถ ยกตัวอย่างเช่น การใช้แอปพลิเคชัน JustPark แก้ไขปัญหาที่จอดรถที่มีอยู่อย่างจำกัดในประเทศอังกฤษ JustPark แก้ปัญหาด้วยการแสดงผลที่จอดรถที่ว่างแบบ Real Time ช่วยให้ผู้ใช้งานไม่ต้องเสียเวลาวนหาที่จอด, ระบบ Smart Analytics แก้ไขปัญหารถติดในประเทศจีน ด้วยการติด Censor ที่รถยนต์มากกว่า 1 ล้านคัน เพื่อวิเคราะห์ความหนาแน่นของปริมาณรถในแต่ละพื้นที่ จากนั้นจึงส่งข้อมูลให้ผู้ใช้รถหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว หรือประเทศไทยก็มีแอปพลิเคชัน Liluna ช่วยหาเพื่อนแชร์ค่าเดินทาง แก้ไขปัญหาปริมาณรถในเมือง เป็นต้น
  • Smart Environment เมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น ประเทศเม็กซิโก ใช้โปรแกรม ProAire แก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

2. เทคโนโลยี Healthcare

ในอีก 5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยี Healthcare จะพัฒนาสู่ Smart Healthcare ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ พัฒนาระบบการรวบรวมและส่งต่อข้อมูล เพื่อช่วยยกระดับการรักษาและการดูแลสุขภาพของประชาชน

ตัวอย่างเทคโนโลยี IoT กับ Healthcare

  • Decentralization of Medical Information การนำข้อมูลทางการแพทย์มาวิเคราะห์แนวทางการรักษา และใช้ระบบ IoT เชื่อมโยงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งการตรวจวัดและการประเมินความเสี่ยง ซึ่งหลักการนี้ใช้รูปแบบ DApps (Decentralized) ซึ่งรวบรวมข้อมูลบันทึกเข้ารหัสใน Blockchain เพื่อแก้ปัญหา Single Point of Failure หรือการเก็บข้อมูลที่ศูนย์กลางที่อาจทำให้ข้อมูลเสียหายได้ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว และเริ่มสร้างโมเดลต้นแบบ (Prototype) มาใช้ในเครือโรงพยาบาลเอกชนแล้ว
  • Personalized Treatment and Service การนำ AI มาปรับใช้สร้าง Machine Learning Genomics ยกระดับการรักษาทางการแพทย์ให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยในระดับบุคคล อาทิ การรักษาตามกรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงสุขภาพ เป็นต้น โดยแนวคิดดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนการวิจัยเพื่อทดลองความเป็นไปได้ในการรักษาแบบ Personalized (การรักษาระดับบุคคล) ในประเทศแถบยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลีและสวีเดน
  • Transformation of Public Health Service ช่องทางในการรักษาทางไกล ลดต้นทุนการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เปลี่ยนจากการลงพื้นที่สู่การรักษาทางไกลด้วยระบบ IoT โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพด้วย Smart Health ของประเทศไทย

3. เทคโนโลยี FinTech

จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวว่า กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนตลาด IoT โดยกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีการพัฒนาระบบ IoT เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค และความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤติ Covid-19

ตัวอย่างเทคโนโลยี IoT กับ FinTech

  • Prompt Customer Assistance การพัฒนาระบบให้สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว อาทิ บริการ Eatable จาก KBTG ที่เชื่อมต่อระบบกับร้านอาหารด้วย Smart Tags อย่าง QR Code ช่วยเหลือร้านอาหารในการจัดการร้านแบบครบวงจร ตั้งแต่รับ Order จนถึงการชำระเงิน
  • Authentication and Safety การพัฒนาความปลอดภัยให้กับลูกค้าด้วยการชำระค่าบริการผ่านระบบ Face Pay (การชำระด้วยสแกนใบหน้า) ซึ่งถูกนำมาใช้งานจริงที่สามย่าน วัลเลย์ อาคารแห่งนวัตกรรมจาก KBTG แล้ว

4. เทคโนโลยี IoT ในภาคธุรกิจ Retail

ธุรกิจค้าปลีก (Retail) เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่ IoT เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจ ทั้งการดูแลลูกค้า การติดตามควบคุมสินค้า และการจัดการ Supply Chain จนไปถึงระบบการติดตามและประมวลผลพฤติกรรมลูกค้า เพื่อพัฒนาธุรกิจค้าปลีกสู่อนาคต

ตัวอย่างเทคโนโลยี IoT กับธุรกิจ Retail

  • Supply Chain การจัดการระบบ Supply Chain เช่น การนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ในการตรวจสอบสินค้า เพื่อตรวจสอบปริมาณสินค้าได้ตลอดเวลา และยังช่วยให้สามารถวางแผนการจัดซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • In-Store Analytic เป็นระบบเซนเซอร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับกล้องวงจรปิด โดยนำมาวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในร้าน (Environment) สำรวจว่าลูกค้าเดินจุดไหนบ่อย หยิบสินค้าบริเวณไหน (Heatmap) เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และพัฒนาร้านต่อไป โดยระบบ In-Store Analytic ทาง Hitachi ได้พัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Lidar Sensor ที่คอยติดตามพฤติกรรมลูกค้าภายในร้าน
  • Check Out-Less Store ร้านค้าที่ไม่มีพนักงานแคชเชียร์ โดย IoT ที่ใช้ภายในร้านมีดังนี้ Computer Vision และ Sensor Fusion ซึ่งจะทำงานร่วมกับ AI ในการทำ Deep Learning คอยติดตามและประมวลผลการจับจ่ายสินค้า รวมถึงสามารถตัดเงินจากบัญชีได้ทันทีที่ลูกค้าออกจากร้าน โดยต้นแบบของ Check Out-Less Store คือ Amazon Go ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ร้านค้าปลีกแห่งอนาคต

5. เทคโนโลยี IoT ในภาคอุตสาหกรรม (โรงงาน)

สำหรับแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมกับการนำ IoT มาใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นไปที่ระบบการจัดการ การผลิตสินค้าแบบอัตโนมัติ การเชื่อมต่อข้อมูลและประมวลผล เพื่อพัฒนาโรงงานสู่ Intelligence manufacturing

ตัวอย่างเทคโนโลยี IoT กับภาคอุตสาหกรรม (โรงงาน)

  • Machine to Machine Communication (M2M, Telematics ) เชื่อมต่อเครื่องจักรให้สามารถสื่อสารกันด้วย Smart Censor เพื่อการทำงานที่สอดคล้องและพนักงานสามารถประเมินสถานะการทำงานของขั้นตอนการผลิตได้รวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ M2M ยังพัฒนาไปสู่การควบคุมการขนส่งสินค้า (Logistics) ซึ่งทาง Wipro บริษัท Business Solution ได้เผยว่า ลูกค้าหลายรายเริ่มใช้ M2M ในการขนส่งสินค้าและควบคุมการผลิต โดยเฉพาะในการขนส่งระบบ M2M ช่วยให้การสื่อสารและการติดตามสะดวกมากยิ่งขึ้น
  • Manufacturing Execution Systems (Mes) ระบบการประมวลผลการทำงานแบบ Real Time สามารถควบคุมติดตามและบันทึกผลการผลิตได้ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ต โดยกรณีศึกษาของ TEC Systems Group บริษัทผู้ให้บริการด้าน Automation Solution พบว่า บริษัท OEM ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารได้นำระบบ Mes มาปรับใช้เพื่อพัฒนาการทำงานในโรงงาน และเชื่อมต่อกับสายการผลิตเพื่อให้ลูกค้าของบริษัทได้ติดตามผลการทำงานด้วย
  • Machine Learning การใช้ Machine Learning ถือเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมโรงงาน แต่ในอนาคต AI จะมีบทบาทด้วยการประยุกต์เข้ากับ Machine Learning เป็น Intelligence manufacturing ที่มีการผลิตแบบอัตโนมัติ ล่าสุดบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีนในเมืองอู่ฮั่น ได้เริ่มดำเนินการแล้วในช่วงวิกฤติ Covid-19 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถผลิตสินค้าได้โดยไม่ต้องอาศัยพนักงาน ในช่วงเวลาที่มีมาตรการปิดเมือง

Summary

IoT คือหนึ่งในตัวอย่างเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจ ยังมีเทคโนโลยีอีกมากที่ช่วยให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้จะช่วยให้ธุรกิจพัฒนาอย่างยั่งยืนในยุค Digital Disruption

อ้างอิง:

“Food Tech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก พลิกธุรกิจอาหาร

Posted on by admin_beacon_2024

ปรากฎการณ์ Digital Disruption ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนคลื่นซัดสาดใส่ทุกวงการ แม้แต่ธุรกิจที่ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอย่างธุรกิจอาหารก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากเรื่องนี้ ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและโจทย์ใหม่ๆ เช่น สังคมผู้สูงอายุ การดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความท้าท้ายอย่างมากกับวงการอาหาร การพัฒนา Food Tech เทคโนโลยีอาหาร จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่มาแก้ปัญหาในปัจจุบัน

 

Food Tech คืออะไร ทำไมจึงโดดเด่นในยุคนี้

Food Tech หรือ Food Technology คือ เทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาคุณภาพของอาหาร ตั้งแต่กระบวนการสรรหาวัตถุดิบ ขนส่ง แปรรูป จนออกมาเป็นสารพัดเมนูบนโต๊ะอาหารให้ทุกๆ คนได้รับประทานกัน

บทบาทของ Food Tech นั้นมีมากมายในประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อผลิตอาหารกระป๋องในช่วงศตวรรษที่ 18 เพื่อความง่ายต่อการเก็บรักษาและการขนส่ง, การคิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้ผู้คนสามารถทานที่ไหนก็ได้ หรือที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้นการสร้าง Platform Amazon Fresh เป็นตัวกลางการซื้อขายอาหารด้วยระบบออนไลน์ เมื่อปี 2007 เป็นต้น

โดยทาง Research and Market ได้คาดการณ์ว่ามูลค่า Food Tech ทั่วโลกจะสูงถึง 2.50 แสนล้านดอลลาร์ (7.79 ล้านล้านบาท) ในปี 2022 ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงความนิยมทั้งจากบริษัทใหญ่และ Startup ได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่ทำให้ Food Tech มีความโดดเด่นขึ้นมาในยุคนี้เห็นจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น

  • ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
  • การเข้ามาของสังคมผู้สูงอายุ
  • นิยมสั่งสินค้าแบบเดลิเวอรี่
  • ใส่ใจสินค้ารักษ์โลก
  • สนใจสินค้าที่มีเอกลักษณ์

จากตัวอย่างดังกล่าว ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยจึงต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีทางอาหารมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีขึ้นและสามารถแข่งขันได้นั่นเอง

 

การปฏิวัติวงการด้วย Food Tech ที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน

ดังที่บอกว่า Food Tech นั้นมีการพัฒนามาหลายยุคหลายสมัย จนเทคโนโลยีบางส่วนถูกหลอมรวมกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารไปแล้ว แต่ก็ยังมีเทคโนโลยีอีกไม่น้อยที่ได้เข้ามามีบทบาทในการปฏิวัติวงการ Food Tech ในปัจจุบัน เช่น

1. Food Delivery Platform แพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร เช่น GrabFood, Line Man, Food Panda และ Gojek ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารต่างๆ ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน

2. On-demand Food Discovery & Ordering แพลตฟอร์มค้นหาร้านอาหาร จองโต๊ะอาหาร และสั่งอาหาร เช่น Yelp และ Wongnai

3. Smart Kitchen Appliance เครื่องครัวอัจฉริยะ ที่มีส่วนช่วยให้การทำอาหารง่ายขึ้น เช่น หม้อทอดไร้น้ำมันที่มีการติดตั้งระบบ IoT สามารถสั่งการผ่านมือถือได้ จนถึงอุปกรณ์ที่มีส่วนช่วยในร้านอาหาร เช่น หุ่นยนต์ทำอาหารของ McDonald’s

4. Supply and Waste Management การจัดการ Supply Chain ในร้านอาหาร เช่น algorithm Eden จาก Walmart ที่ช่วยในการคำนวณความสดของสินค้าและช่วงเวลาจัดเก็บ เพื่อลดปริมาณอาหารเน่าเสียในร้าน

5. Meat Substitute เนื้อเทียมเข้ามามีบทบาทอย่างมากตามกระแสรักษ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเนื้อเทียมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ Plant-based protein ที่ทำมาจากผักและถั่วเหลือง ซึ่งได้รสสัมผัสใกล้เคียงกับเนื้อจริง

การพัฒนาของ Food Tech ต่ออุตสาหกรรมอาหารไทย

ไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตอาหารคุณภาพสูง ส่งออกได้มาก แต่ยังพบปัญหาด้านการจัดการ การขนส่งและการควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐาน และนั่นคือสิ่งสำคัญที่ Food Technology เข้ามาแก้ปัญหา

โดยธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาหารที่มีความก้าวหน้าในประเทศไทยอย่างชัดเจนคือ Food Delivery ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ธุรกิจการส่งอาหารปี 2563 เติบโตมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 150% และมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ คาดการณ์ว่ามีการใช้งานการจัดส่งอาหารทั้งหมดในปี 2564 ราว 66-68 ล้านครั้ง

นอกเหนือจาก Food Delivery แล้ว ยังมีการพัฒนาเกี่ยวกับอาหารเพื่อผู้สูงอายุ อาหารเพื่อสุขภาพ เนื้อเทียม การจัดการ Supply Chain ของร้านอาหาร รวมถึงการปั้นกรุงเทพให้กลายเป็น “Food Tech Silicon Valley แหล่งรวมของสตาร์ทอัพและการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาหาร” จากสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุน Food Tech ในประเทศไทยเองยังคงน้อยหากเทียบกับตลาดโลก อ้างอิงจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยไทยมีสัดส่วนสตาร์ทอัพ Food Tech เพียง 44 บริษัท คิดเป็น 0.43% จากทั้งโลก และเน้นไปในด้านการพัฒนาวัตถุดิบอาหารเสียส่วนใหญ่ ในขณะที่นานาชาตินั้นให้ความสำคัญกับอาหารในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ การใช้พลังงานสะอาดในการทำอาหาร และการพัฒนาด้าน Logistics ในการขนส่งอาหาร

โอกาสของประเทศไทยคือ เรายังมีช่องว่างอีกมากในการลงทุนด้าน Food Tech อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีชื่อเสียงด้านอาหารอยู่แล้ว จากความตั้งใจของเกษตรกร สตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความร่วมมือจากทางภาครัฐ ทำให้มั่นใจได้ว่าในอนาคต Food Tech ไทยจะมีอะไรน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

Summary

Food Tech นั้นเปรียบเสมือนการปฏิวัติทางอาหารในทุกยุคทุกสมัย และส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก โดยมีผู้บริโภคและเทคโนโลยีในสมัยนั้นๆ เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันได้เน้นไปที่ระบบ Delivery การพัฒนาอาหารเพื่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนา Automation

ทว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการลงทุน Food Tech ในไทย เป็นการลงทุนในวงจำกัด และยังไม่หลากหลายเพียงพอ ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญเพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มวงการ Food Tech ไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปสู่สังคมทุกระดับเพื่อเติมเต็ม Ecosystem ของ Food Tech อาจเป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาเรื่องนี้ให้ได้อย่างยั่งยืน

หากคุณเป็นสตาร์ทอัพที่มีไอเดียน่าสนใจและกำลังทำงานเพื่อพัฒนาวงการให้ดียิ่งขึ้น สามารถพูดคุยกับเรา Katalyst ได้ที่นี่ เพราะเราคือเพื่อนที่พร้อมพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพไทย ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อทำให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างก้าวไกลและยั่งยืน

 

อ้างอิง:

HealthTech เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ จุดเปลี่ยนนวัตกรรมทางการแพทย์

Posted on by admin_beacon_2024

HeathTech เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติ Covid-19 ทั้งในด้านการลงทุนและการตอบสนองพฤติกรรมของผู้คนที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ส่งผลให้ HeathTech เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมการแพทย์

ทำความรู้จัก HealthTech สตาร์ทอัพสายสุขภาพ

HealthTech เป็นเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่พัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงผู้คนเป็นหลัก มีบทบาทเพื่อสนับสนุนความต้องการด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และยกระดับความก้าวหน้าของวงการแพทย์ทั่วโลก

ยกตัวอย่าง Touch Surgery สตาร์ทอัพสัญชาติอังกฤษที่ได้ทำการจำลองการผ่าตัด และนำเสนอออกมาในรูปแบบ AR Simulation เพื่อประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ ให้ได้ทำการฝึกวิเคราะห์ผ่านการผ่าตัดเสมือนจริง นอกจากนี้ยังลดปัญหาด้านการขาดแคลน Resource ในการสอนอีกด้วย

ไม่เพียงแค่พัฒนาในด้านการรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวันของผู้คนให้เข้าถึงความรู้ด้านสุขภาพ ตัวอย่างเช่น Babylon Health สตาร์ทอัพจากอังกฤษ เป็นแอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานนัดพบหรือขอคำปรึกษาจากแพทย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยใช้ระบบ AI ในการจับคู่แพทย์กับผู้ป่วย เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์สนับสนุนต่างๆ เช่น AI Chatbot ที่สามารถตอบคำถามทางการแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และการสั่งซื้อยาโดยส่งใบสั่งยาจากแพทย์ไปยังร้านขายยาใกล้ๆ ผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวกยิ่งขึ้น

นับเป็นตัวอย่างของสตาร์ทอัพ HealthTech ที่สามารถเข้าถึงชีวิตประจำวัน และเชื่อมต่อระหว่างผู้คนและผู้ให้บริการด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่าง HealthTech ที่น่าจับตามองจากทั่วโลก

มาดูกันว่าในปัจจุบันสตาร์ทอัพด้าน HealthTech จากทั่วโลกที่กำลังเป็นที่สนใจและสามารถสร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการสุขภาพได้ มีอะไรบ้าง

  • MedicPad

Image Source: MedicPad

MedicPad HealthTech จากโรมาเนีย เป็น Platform สำหรับแพทย์ที่แชร์ข้อมูลของผู้ป่วยผ่าน Cloud Storage ทางแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน โดยที่สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลสำคัญต่างๆ ของผู้ป่วยจะไม่รั่วไหลออกไป

โดยข้อมูลที่แชร์นั้นจะประกอบไปด้วยประวัติส่วนตัว ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว ประวัติการรับยาและการเข้ารักษาต่างๆ เพื่อให้ทีมแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยและทำการรักษา หรือวิเคราะห์แนวทางรักษาได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้วยการแชร์ข้อมูลผู้ป่วยระหว่างทีมแพทย์แต่ละแห่ง จึงช่วยทำให้ประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดียิ่งขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งในสตาร์ทอัพที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

 

  • Novamab

Image Source: Bioworld

Novamab เป็น HealthTech สัญชาติจีน ที่พัฒนาเทคโนโลยีชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) โดยนำแนวคิดของนาโนบอดี้มาใช้ในการพัฒนาตัวยา (Nanobody-Based Drugs) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก

Novamab ได้ทำการสร้างศูนย์วิจัยเพื่อทำการค้นหาความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยีนาโนบอดี้มาใช้พัฒนาประสิทธิภาพของตัวยา และเภสัชกรรมปัจจุบันของโลก อีกทั้งยังมีจุดประสงค์ที่ต้องการให้วงการแพทย์ทั่วโลกได้เข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีนาโนบอดี้อีกด้วย

หากผลลัพท์ที่ออกมาเป็นไปตามที่ Novamab ได้คาดการณ์เอาไว้ ไม่เพียงแต่ตัวยาจะมีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้นเท่านั้น แต่หมายความว่าผลลัพท์ในการรักษาโรคก็มีโอกาสสำเร็จที่สูงยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

 

  • Andiamo

Image Source: OnceDaily

Andiamo คือ HealthTech จากอังกฤษ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสามี-ภรรยา จากครอบครัว Parvez ได้สูญเสียลูกชายไปด้วยโรคสมองพิการ จึงจุดประกายให้เกิดเป็นสตาร์ทอัพที่ต้องการช่วยเหลือเด็กๆ ที่มีความผิดปกติทางร่างกายด้วย 3D Printer เพื่อใช้ในการสร้างอวัยวะเทียมทดแทนส่วนที่ขาดหาย พิการ หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิต

ซึ่งเป็นไอเดียที่จะช่วยสร้างอนาคตให้กับเด็กๆ ทั่วโลกที่มีความผิดปกติทางร่างกาย ให้สามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงเด็กปกติมากที่สุด ด้วยไอเดียเปลี่ยนโลกนี้จึงทำให้ได้รับเงินสนับสนุนจาก Sir Richard Branson CEO แห่ง Virgin Group และสามารถเข้าร่วมกับ NHS (บริการสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร) ได้

 

ความสนใจของนักลงทุนที่มีต่อ HealthTech

ปัจจุบัน HealthTech กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก อ้างอิงข้อมูลจาก Statista ในช่วงปี 2015-2017 HealthTech มีมูลค่าการลงทุนต่อเนื่องมากถึง 20% ต่อปี และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2020 หลังจากที่เกิดวิกฤติ Covid-19 ทาง Medcitynews เผยว่า บริษัทด้าน HealthTech หลายแห่งเปิดเสนอขายหุ้นสู่สาธารณะ (IPO) ซึ่งแต่ละบริษัทได้รับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ อาทิ

  • GoHeath บริษัทประกันภัยออนไลน์ ปิด IPO ด้วยมูลค่าซื้อขาย 916 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • Amwell บริษัทให้บริการทางการแพทย์ผ่านระบบโทรคมนาคม (Teleheath) ปิด IPO ด้วยมูลค่าซื้อขาย 742 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • Schrodinger บริษัทซอฟต์แวร์ด้านยารักษาโรค ปิด IPO ด้วยมูลค่าซื้อขาย 232 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดย HealthTech ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในยุคปัจจุบันได้แก่ นวัตกรรมสุขภาพไร้สาย (Wireless Health) และอุปกรณ์ติดตามดูแลสุขภาพผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Health) ที่สามารถพกพาได้ง่าย เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch), สมาร์ทโฟน (Smart Phone) ซึ่งหากนับเฉพาะตลาด Mobile Health จากช่วงปีที่ผ่านมามีความเติบโตพุ่งสูงถึง 42% ต่อปีเลยทีเดียว

  • Wireless Health นวัตกรรมด้านสุขภาพแบบไร้สาย ตัวอย่างเช่น การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสัญญาณชีพ (Vital Signal) ไว้ที่ร่างกายของผู้ป่วย เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นก็จะทำการส่งสัญญาณไปยังแพทย์ผู้ดูแล เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ในทันที ซึ่งจะช่วยให้การบริหารบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเก็บบันทึกสถิติเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการรักษาได้อีกด้วย
  • Mobile Health อุปกรณ์สุขภาพเคลื่อนที่ จากที่เมื่อก่อนจะทำได้เพียงการบันทึกข้อมูลสุขภาพ เช่น การวัดระดับชีพจร หรือการเคลื่อนไหวขณะออกกำลังกาย แต่ในปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้ได้ถูกพัฒนาจนสามารถนำไปใช้ด้านสาธารณสุข เช่น การส่งข้อมูลสุขภาพให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อรักษาได้ทุกที่ทุกเวลา เช่น ข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือด ระดับออกซิเจน รวมถึงติดตามการนอนหลับของผู้สวมใส่ได้ ทำให้การดูแลสุขภาพกลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและจับต้องได้ง่ายขึ้น

HealthTech กับความสำคัญต่อประเทศไทยในอนาคต

จากการคาดการณ์โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2021 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรที่เป็นผู้สูงอายุมากถึง 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การดูแลสุขภาพกำลังจะกลายเป็นเทรนด์หลักของคนไทย ซึ่งสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยที่เล็งเห็นถึงโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นการเข้ามาของ HealthTech จะมีบทบาทมากขึ้นอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น

  • Health at Home Platform ที่มุ่งเน้นไปยังการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยในบ้านโดยเฉพาะ ด้วยบริการ Nursing Home ส่งตรงถึงบ้าน ช่วยจัดการพฤติกรรมของผู้ป่วยให้เป็นไปตามตาราง หรือตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีบริการรับ-ส่งผู้ป่วยจากโรงพยาบาล ทำให้ลูกหลานสามารถวางใจได้ ซึ่งนับว่าตอบโจทย์ต่อการเข้าสู่สังคมสังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ค่อยมีเวลาในการดูแลผู้ป่วยหรือญาติผู้ใหญ่ เช่น ผู้ที่ต้องออกไปทำงานประจำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ด้วยการเข้าถึงของสมาร์ทโฟนยังช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพได้อย่างถูกต้องและสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

  • PobPad (พบแพทย์) Platform ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่ดีและน่าเชื่อถือสำหรับผู้ที่อยากรู้ข้อมูลด้านสุขภาพผ่านบทความที่มีประโยชน์ และต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพ โดยสามารถสอบถามข้อมูลที่สงสัยกับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรงผ่าน Smart Phone ทำให้ช่วยคลายข้อสงสัยต่างๆ ให้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีคำถามได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ผู้คนเข้าใจและเข้าถึงการดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทที่ขาดแคลนบุคลากรที่คอยให้คำแนะนำด้านการแพทย์

นอกจากนี้จากวิกฤติ Covid-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของคนในสังคมเริ่มเปลี่ยนไป การรักษาแบบ Teleheath (การรักษาทางไกลผ่านระบบดิจิทัล) จึงมีแนวโน้มที่เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยในไทยมี Startup หลายรายที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาทิ

  • OOCA แอปพลิเคชันให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตผ่านวิดีโอคอล ผู้ใช้งานสามารถปรึกษาจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่ต้องเดินทาง
  • Diamate แอปพลิเคชันดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่บ้านร่วมกับการรักษาที่พยาบาล แอปฯ ดังกล่าวช่วยให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว เก็บสถิติการทานอาหาร รวมถึงติดตามระดับน้ำตาลแบบเรียลไทม์ พร้อมระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดความผิดปกติ
  • ใกล้มือหมอ แอปพลิเคชันวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ผู้ใช้งานสามารถคัดกรองโรคเบื้องต้น และรับคำแนะนำจากแพทย์ผ่านคลิปวิดีโอ รวมถึงสามารถจดบันทึกอาการเพื่อติดตามผลย้อนหลังได้อีกด้วย

Summary

HeathTech ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นหลังจากการเกิดวิกฤติ Covid-19 อุตสาหกรรมทางการแพทย์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของพฤติกรรมของคนและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ผลจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความสนใจจากนักลงทุน ส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพอาจต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการพัฒนาสินค้าและบริการ เช่น เทคโนโลยี AI หรือ Big Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน

สุดท้ายนี้การพัฒนาสินค้าและบริการของสตาร์ทอัพสาย HealthTech มิใช่แค่เพียงมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันเท่านั้น แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างตรงจุด และช่วยให้สุขภาพของคนในสังคมดีขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยหากทำได้เช่นนี้แล้วการหานักลงทุนก็คงไม่ใช่เรื่องไกลตัว และธุรกิจก็จะเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป