Category: KATALYST

ติววิชา Sustainability ก่อนมุ่งสู่ ‘ESG Report’ คอนเทนต์ที่สตาร์ทอัพควรอ่าน จากงาน ESG ESSENTIAL WORKSHOP

Posted on by [email protected]

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทาง KATALYST ได้มีโอกาสจัดงาน ESG ESSENTIAL WORKSHOP ให้กับกลุ่ม Startup ในประเทศไทย ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ทุกคนที่มางานมีปฏิสัมพันธ์ดี และบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทางเราจึงอยากยกบทความที่เขียนโดน Techsauce มาแบ่งปันกับทุกคน


มีโอกาสเข้าไปรับฟังความรู้เรื่อง Sustainability และการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG (Environmental, Social & Governance) ร่วมกับเหล่าสตาร์ทอัพในงานสัมมนา ‘ESG ESSENTIAL WORKSHOP: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups’ ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นตามคอนเซ็ปต์ของ KATALYST by KBank โครงการบ่มเพาะความรู้ให้แก่สตาร์ทอัพ ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้ธนาคารกสิกรไทย โดย Beacon VC พบว่าสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาอบรมความรู้ในงานนี้ ใจจดใจจ่อกับการรับฟังวิทยากรตลอดหลายชั่วโมงที่มีการเรียนการสอน

 

สำหรับผู้สอนหรือวิทยากรที่มาถ่ายทอดองค์ความรู้ในหัวข้อ ESG ESSENTIAL WORKSHOP คือ ดร.เอกภัทร มานิตขจรกิจ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพการศึกษา คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการหลักสูตร KU Care โดยประเด็นที่นำมาถ่ายทอดนั้น แบ่งออกเป็น Introduction to Sustainability, Level of Sustainability, Process of Sustainability, Buy-In, Value Chain (Michael E. Porter) และ Materiality Process

จุดยืนด้าน ESG ของธนาคารกสิกรไทย และ Beacon VC

ที่ผ่านมาคงเห็นแล้วว่า Beacon VC มี Beacon Impact Fund โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย  ในการจัดสรรวงเงินเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมความยั่งยืนและ ESG อีกทั้งมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพ โดยมีการดำเนินงานผ่านโครงการ KATALYST by KBank มาอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำถึงความตั้งใจที่จะผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ และกลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนในท้ายที่สุด โดยในช่วงไม่กี่ปีนี้ เน้นให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนและ ESG ตั้งแต่การให้ความรู้และแนะวิธีลงมือทำ ไปในทิศทางเดียวกับแผนของธนาคารกสิกรไทยในปี 2567 ที่ต้องให้ทุกภาคส่วนนำไปปฏิบัติจริงหลังจากที่ได้สร้างการรับรู้เรื่อง ESG แล้วในปีที่ผ่านมา

 

เพราะเล็งเห็นว่า สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มีความตระหนักรู้ (Awareness) เรื่อง ESG แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะริเริ่มนำหลัก ESG ไปใช้ในองค์กร (ESG Initiative) อย่างไร ประกอบกับการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต Beacon VC และ KATALYST by KBank จึงร่วมมือกับ Singapore Management University (SMU) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ (SASIN) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU) จัดเวิร์กช็อปแชร์ความรู้ ‘ESG ESSENTIAL WORKSHOP: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups’ ขึ้น เพื่อการทำ ESG ในภาคปฏิบัติ โดยเน้นการให้ความรู้แก่สตาร์ทอัพเพื่อวางแผนทำ ESG Report ของบริษัทตัวเองได้ และมีสตาร์ทอัพ 50 บริษัทสมัครเข้าร่วมกิจกรรม แต่คัดเลือกสตาร์ทอัพเพียง 40 บริษัทที่ได้เข้าร่วมในเวิร์กช็อปดังกล่าว

 

ก่อนที่โลกจะให้ความสำคัญเรื่อง Sustainability และ ESG

ดร.เอกภัทรสรุปภาพความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของประชากรโลกในปัจจุบัน ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ การปฏิวัติอุตสาหกรรม การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มาของก๊าซเรือนกระจก (GHG) ผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ความเข้าใจและการตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะโลกรวน (Climate Change) เป้าหมายด้านความยั่งยืน (SDGs) การสร้างความร่วมมือและการทำข้อตกลงต่างๆ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5-2 องศา เช่น Tokyo Protocol, Paris Agreement (COP21) ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลกจาก The Global Risks Report 2024 ความสำคัญของการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ฯลฯ

 

ขยับลงมาที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ‘ผู้ประกอบการ’ ต้องเข้าใจเรื่องความยั่งยืน การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ซึ่งต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นคู่ค่า ลูกค้า พาร์ตเนอร์ พนักงาน ผู้ถือหุ้น ชุมชน แต่การทำตามหลัก ESG ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงนำมาสู่การปูพื้นฐานความรู้และอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดย ดร.เอกภัทรชี้ให้เห็นการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การให้เห็นความสำคัญในเรื่อง ESG ประโยชน์ที่สตาร์ทอัพจะได้รับ กรอบการทำรายงาน ESG ตัวชี้วัด ตัวอย่างรายงาน และประเด็นที่สตาร์ทอัพควรรู้อีกมากมาย โดยเทคซอสหยิบสิ่งที่น่าสนใจและย่อยง่ายมาบอกต่อเพียงบางส่วน ดังนี้

งานสัมมนา ESG ESSENTIAL WORKSHOP: Navigating Sustainability for Post-Revenue Startups จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคาร K+ สามย่าน ถือเป็นงานที่ต่อเนื่องมาจาก ‘KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023’ หลักสูตรติวเข้มสำหรับสตาร์ทอัพไทยที่มีการส่งต่อองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนและ ESG เอาไว้บ้างแล้ว

2 แนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

  • Mitigation คือ การลดหรือบรรเทาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม หรือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด เช่น ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาใช้พลังงานสะอาด การปลูกป่าทดแทน
  • Adaptation หมายถึง การปรับตัวให้เข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อโลกร้อนขึ้น นักวิจัยก็พัฒนาพืชพันธุ์ให้ทนต่อความแห้งแล้งมากยิ่งขึ้น เกษตรกรก็จะสามารถเพาะปลูกต่อได้

ตัวอย่างความร่วมมือในการพยายามลดโลกร้อน

  • UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) การประชุมเกี่ยวกับ Climate Change ซึ่งจัดขึ้นทุกปี
  • Kyoto Protocol (COP3) การแสดงจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้ว
  • COP21 (Conference of the Parties) หรือ 2015 Paris Climate Conference การประชุมสุดยอดผู้นำในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยองค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการหารือและทำข้อตกลงในเรื่องลดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระดับนานาชาติ เพื่อร่วมกันรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดเป็น ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งบังคับให้ทุกประเทศที่ร่วมลงนามต้องดำเนินการตามข้อตกลง (Agreed Process) อย่างเป็นรูปธรรม
  • COP26 (Conference of the Parties) การประชุมสุดยอดผู้นำในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 โดยมีประเด็นสำคัญในเรื่องการกำหนดกรอบระยะเวลาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย, การกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องสนับสนุนประเทศด้อยพัฒนา, การประกาศแผนลดการปล่อยมลพิษ, ข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับการเลิกใช้ถ่านหิน การเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า, การปล่อยมลพิษสุทธิทั่วโลกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และรักษาระดับอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
  • COP28 (Conference of the Parties) การประชุมสุดยอดผู้นำในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 โดยมีเหล่าผู้นำและตัวแทนภาครัฐจาก 200 ประเทศ มาหารือร่วมกันในเรื่องภาวะโลกร้อน

 

ความแตกต่างระหว่าง 3 เสาหลักของ Sustainability กับ ESG เพื่อไม่ให้เข้าใจคลาดเคลื่อนหรือโฟกัสผิดจุด

  • Sustainability ให้ความสำคัญในเรื่อง Economic, Social & Environmental
  • ESG ให้ความสำคัญในเรื่อง Environmental, Social & Governance

แนวการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG

  • ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) เช่น ส่งเสริมการแยกประเภทขยะและกำจัดขยะอย่างถูกต้อง ลดการใช้พลังงานในสำนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย ลดการใช้เชื้อเพลงฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้า วางแผนการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน
  • ด้านสังคม (Social) เช่น เปิดรับความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ศาสนา (Diversity), ให้ค่าแรงและสวัสดิการอย่างเหมาะสมแก่พนักงาน, ให้เกียรติผู้ร่วมงานและไม่มีการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)
  • ด้านธรรมาภิบาล (Governance) เช่น ทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร (Responsibility & Accountibility) การให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Diversity and Equality)

รู้จัก 3 Scope การจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

  • Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร โดยบริษัทสามารถประเมินได้ว่า แต่ละกิจกรรมในบริษัทปล่อยคาร์บอนมากเพียงใด
  • Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้า
  • Scope 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากเพราะต้องเก็บข้อมูลได้ทั้ง Supply Chain

 

ประเทศไทยประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืนเอาไว้ 2 ข้อ คือ

  • เป้าหมายที่ 1 ไทยต้องมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 คือ เน้นเรื่องลดการปล่อยคาร์บอน
  • เป้าหมายที่ 2 ไทยจะต้องทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 คือ มีการกักเก็บคาร์บอน ไม่มีการปล่อยก๊าซใดๆ ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอีก

การทำรายงานด้านความยั่งยืนของแต่ละองค์กรมีรูปแบบต่างกัน

  • การทำรายงานด้านความยั่งยืนขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่า ดำเนินธุรกิจประเภทใด มีนโยบายและผลการปฏิบัติงานอย่างไร ดังนั้น รูปแบบรายงานของแต่ละบริษัทก็จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยสามารถอ้างอิงได้จากแนวทางหรือมาตรฐานต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น SCG, CP จัดทำรายงานด้านความยั่งยืนโดยใช้ SDGs 17 ข้อ เป็นเกณฑ์ในการทำธุรกิจและกิจกรรมของบริษัท

ประเทศไทยมี ‘Thailand Taxonomy’ ชี้ชัดว่า ใครทำกิจกรรมโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

  • Thailand Taxonomy คือ การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจ เพื่อช่วยประเมินว่า กิจกรรมใดเข้าข่ายการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยการแบ่งเป็น สีแดง สีเหลือง สีเขียว โดยสีเขียวคือ บริษัทนั้นๆ ทำกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สีแดง คือ บริษัทนั้นๆ ทำกิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะต้องมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น หรืออาจไม่สามารถระดมทุนได้

 

ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนและมาตรฐานการทำรายงาน ESG มีอยู่หลายระดับ หลากรูปแบบ ในที่นี้ขอยกเพียงบางตัวชี้วัดที่สตาร์ทอัพควรรู้

  • DJSI Index (Dow Jones Sustainability Indices) คือ ดัชนีชี้วัดความยั่งยืนในระดับสากล ซึ่งมีบริษัทไทยที่ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มบริษัทเกิดใหม่ (DJSI Emerging Market) จำนวน 26 บริษัท และมีบริษัทไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก (DJSI WORLD) มีจำนวนทั้งหมด 15 บริษัท
  • SET ESG Index (หรือชื่อเดิม THSI : Thailand Sustainable Investment) คือ ดัชนีบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มที่ได้รับการประเมินผลว่าเป็น ‘หุ้นยั่งยืน’ โดยบริษัทที่ปรากฏชื่ออยู่ในดัชนีหุ้นยั่งยืนนั้นผ่านการประเมินจากทุกประเภทกิจกรรมโดยได้ 50 คะแนนเป็นอย่างน้อย ส่วนการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เรียกว่า SET ESG Ratings

ยกตัวอย่าง International Reporting Standard หรือ มาตรฐานการจัดทำรายงานสากล

  • GRI (Global Reporting Initiative) กรอบการจัดทำรายงานขององค์กรความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล เป็นมาตรฐานการทำรายงานตามหลัก ESG
  • SASB (The Sustainability Accounting Standards Board) รายงานความยั่งยืน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อไฟแนนซ์
  • TCFD (Task Force on Climate-related Financial Disclosures) รายงานการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง โอกาส และผลกระทบที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

เกมตอบคำถามผ่าน Kahoot และ Discussion Workshop

เพื่อกระตุ้นความจำ เพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ ดร.เอกภัทรให้ 40 สตาร์ทอัพ รวมกว่า 60 คน ตอบคำถามจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นเกมบนแพลตฟอร์ม Kahoot เช่น ประเทศไทยประกาศว่าจะเป็น Net Zero Emission ในปีใด, ประเทศใดที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยผู้ที่ตอบถูกมากที่สุด มีคะแนนสูงสุดก็จะได้รับของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ต่อด้วยการแนะแนวเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมี 4 ขั้นตอนหรือ 4 สเตจ

  • 1) Early and emerging stage ขั้นที่เพิ่งเริ่มทำตามหลัก ESG
  • 2) Initiative-based stage มีการริเริ่มทำบางอย่างตามหลัก ESG แล้ว
  • 3) Strategic focus stage มีทีมแน่นอน มี Commitment ชัดเจน มีการวัดและจัดทำรายงาน รวมทั้งการจัดการความเสี่ยง
  • 4) Vision Driven stage มีวิสัยทัศน์ที่จะพาธุรกิจไปเติบโตสู่ระดับโลก

 

จากนั้นเข้าสู่กิจกรรม Discussion Workshop ช่วงของการให้แต่ละทีมพูดคุยกันว่า ธุรกิจที่ทำอยู่นั้นอยู่ในสเตจใด โดยสตาร์ทอัพ AltoTech เป็นตัวแทนออกมานำเสนอว่า AltoTech อยู่ในสเตจ 2 และกำลังก้าวสู่สเตจ 3 เนื่องจากทีมเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนและเริ่มก่อตั้งทีม Sustainability แล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจด้วย Data กับอีกสตาร์ทอัพ Poppin ที่ซีอีโอบอกสมาชิกในทีมเรื่อง Net Zero Journey เพื่อทำให้ทั้งทีมมีความตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืน และทุกคน ทุกฝ่าย ก็พูดคุยประเด็นนี้กันในบริษัท เท่ากับว่า Poppin อยู่ในสเตจ 1 ของการทำธุรกิจที่ยั่งยืน

เรียนรู้ 0-5 สเต็ป เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ดร.เอกภัทรแนะแนวทางในภาคปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ว่า มีกระบวนการอยู่ 6 สเต็ป ดังนี้

  • สเต็ป 0 Buy-in สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • สเต็ป 1 Materiality กำหนดประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน
  • สเต็ป 2 Policy ประกาศนโยบายด้านความยั่งยืน
  • สเต็ป 3 Strategy พัฒนากลยุทธ์องค์กร
  • สเต็ป 4 Implementation บริหารจัดการประเด็นสำคัญ
  • สเต็ป 5 Disclosure เปิดเผยผลการดำเนินงาน

 

ทำความเข้าใจเรื่อง Buy-in ว่าทำไมอยู่ในสเต็ป 0

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทมหาชน เอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพ จะพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนและสอดคล้องกับหลัก ESG ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจาก ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ โดยรอบ เช่น คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน แต่การจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สเต็ป 0 Buy-in หรือสเต็ปการพูดเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจแล้วทำตาม หรือเชื่อมั่นแล้วซื้อไอเดีย ซึ่งผู้พูดต้องเชื่อในเรื่องความยั่งยืนก่อน แล้วใช้ การมีส่วนร่วมและการสื่อสาร (Engagement and Communication) เนื้อหาที่เหมาะกับคู่สนทนา ตามมาด้วยการอธิบายว่า ทำแล้วเขาจะได้อะไร หรือ บริษัทมี Shared Value อะไรกลับคืน

 

“คนที่จะ Buy-in ต้องเป็นคนที่มีวาทศิลป์สูงมาก เป็นคนที่ Convince คนนู้นคนนี้ได้ และที่สําคัญอีกข้อก็คือ จะต้องไม่ยอมแพ้ เพราะว่าจะโดนปฏิเสธเยอะ แต่ก็ต้องคุยจนเขาเข้าใจและเห็นด้วย ซึ่งมันเป็น Process ที่ต้องค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ”

ดร.เอกภัทรกล่าวและยกตัวอย่าง เช่น CFO เห็นว่าควรลงทุนหรือซื้อหุ้นบริษัทเทคโนโลยีเพราะจะดีต่อบริษัทในระยะยาว ก็ต้องเอาตัวเลขไปคุยกับนักลงทุน ว่าการลงทุนในธุรกิจนี้มีโอกาสที่หุ้นจะขึ้น ทำกำไรได้ หรืออาจได้เทคโนโลยีล้ำสมัยมาปรับใช้ ซึ่งก็จะช่วยลดต้นทุน ลดการปล่อยคาร์บอน นำไปสู่มูลค่าหุ้นและผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ สเต็ป Buy-in จึงมาก่อนกระบวนการทางธุรกิจข้ออื่นๆ

 

ปิดท้ายด้วย Sustainability Stewards Workshop และ Value Chain & Materiality Matrix Workshop

ในช่วงท้ายของงานมีกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อให้ทุกทีมลองคิดและสื่อสารกันจริงๆ โจทย์ก็คือ ให้แต่ละทีมลองทำในสเต็ป Buy-in คือ ให้สมมุติสถานการณ์ว่า ถ้าต้องไปพูดกับ CEO, CFO, Engineer, Plant Manager หรือ Frontline Worker ใครก็ได้ 1 คน จะพูดให้คนคนนั้น Buy-in เรื่องความยั่งยืนได้อย่างไร

ต่อด้วยเวิร์กช็อปด้าน Value Chain ที่ช่วยให้เข้าใจมากขึ้นว่า ธุรกิจที่ทำอยู่คืออะไร กำลังทำเรื่องไหนที่เป็นเรื่องความยั่งยืน อะไรสำคัญต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ฯลฯ โดยให้สตาร์ทอัพระบุออกมาเป็น Value Chain ของธุรกิจที่ทำอยู่ แล้วแบ่งตามหมวด Economic, Environmental, Social และ Governance จากนั้นระบุสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อทำออกมาเป็น Materiality Matrix บอกได้ว่า Top 3 ที่แต่ละสตาร์ทอัพให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องอะไร

 

ตัวอย่าง Materiality Matrix ของ KBank

ตอนท้ายงานของงานเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพพูดคุยและสร้างเครือข่าย (Networking) ขยายระบบนิเวศสตาร์ทอัพภายใต้โครงการ KATALYST by KBank ออกไป โดยทุกคนจากภาคส่วนต่างๆ ที่มารวมตัวกันในวันนั้น ล้วนให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG

 

นี่เป็นเพียงบทความชวนทบทวนความรู้ให้แก่เหล่าสตาร์ทอัพและผู้สนใจคอนเทนต์ด้านความยั่งยืน ซึ่งตอกย้ำว่า Beacon VC เน้นให้สตาร์ทอัพได้ทดลองทำจริงเพื่อให้เข้าใจเรื่อง ESG และเห็นความสำคัญของการทำรายงานด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ ทาง Beacon VC ยังเผยว่า จะจัดงานส่งต่อความรู้ด้านความยั่งยืนอีก แต่จะจัดขึ้นเมื่อไหร่นั้น สามารถติดตามความเคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊ก KATALYST by KBank และ Beacon Venture Capital

 

#ESG #BeaconVC #KATALYSTbyKBank #ESGworkshop #SMU #SASIN #KU #StartupEcosystem

บทความโดย: Techsauce Thailand

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ปี 4 เสริมศักยภาพสตาร์ทอัพไทย ให้แข็งแกร่งครบวงจรอย่างยั่งยืน

Posted on by [email protected]

KBank โดย Beacon VC เดินหน้าเสริมความแข่งแกร่งสตาร์ทอัพไทยกับโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 ปีที่ 4

 

โครงการดีๆที่มุ่งถ่ายทอดหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจเพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพพัฒนาธุรกิจและเติบโตอย่างยั่งยืนก้าวทันเทคโนโลยีพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง

หลังการเรียนรู้ตลอด 9 สัปดาห์สุดเข้มข้น ทั้ง 10 ทีมก็ถึงคราวนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการเพื่อชิงเงินรางวัลและโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ  

 

ภาพรวมของโครงการในปีนี้เป็นอย่างไร และทีมไหนมีผลงานน่าสนใจบ้าง เรามาร่วมติดตามไปพร้อมกันได้เลย!

โครงการ  KATALYST STARTUP LAUNCHPAD เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นำโดยรองศาสตราจารย์ Charles (Chuck) Eesley และพันธมิตรในด้านต่างๆ

 

โดยปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้อย่างเข้มข้นตลอด 9 สัปดาห์ จากเหล่าเมนเทอร์ชั้นนำจากหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงยังมีโอกาสสร้างเครือข่ายและต่อยอดการทำธุรกิจกับผู้ร่วมโครงการทั้งรุ่นก่อนและรุ่นปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้มีสตาร์ทอัพที่เป็นเครือข่ายธุรกิจมากถึง 200 รายเลยทีเดียว

 

คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซีเผยว่า KBank มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้แข็งแกร่งอย่างครบวงจร ทั้งการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงได้ลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง สามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ได้จริง

 

 

ในปีนี้ยังมีสตาร์ทอัพที่น่าสนใจต่างจากปีที่ผ่านๆ มา มีการนำ Passion มาต่อยอดเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ มีการใช้ Deep Tech และ AI เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

 

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 มีทีมสมัครเข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 200 ทีมด้วยสตาร์ทอัพที่หลากหลาย ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมหลักสูตร 62 ทีม กระทั่งคัดเลือกจนเหลือ 10 ทีมสุดท้ายนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการในรอบชิง

 

 

ทีมที่คว้าชัยไปในปีนี้คือทีม Tambaan.co ระบบจ้างงานผู้รับเหมาให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่คัดเลือกผู้รับเหมาควบคุมงานก่อสร้างเพื่ออุดรอยรั่วและแก้ไขปัญหาการทุจริตในงานก่อสร้างอย่างเป็นระบบ

 

 

อันดับที่ 2 ได้แก่ทีม Plant Origin ผลิตภัณฑ์ทดแทนไข่ที่ทำมาจากโปรจีนไฮโดรไลเซตสกัดจากรำข้าวเพื่อผู้ที่มีปัญหาในการรับประทานไข่และช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนไข่ในประเทศ

 

 

อันดับที่ 3 ได้แก่ทีม PreceptorAI แพลตฟอร์มเพื่อช่วยบุคคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยโรคและดูแลคนไข้ โดยการใช้เทคโนโลยี AI ที่เทรนด้วยข้อมูลเวชปฏิบัติของประเทศไทยช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

 

 

ทางโครงการยังมีรางวัล The Sustainable Innovation Award มอบให้กับทีมที่มีวิสัยทัศน์ด้ายนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกใหกับสังคมได้อย่างยั่งยืน

 

ทีม Modgut แพลตฟอร์ม AI ขั้นสูงที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีไมโครไบโอม (จุลินทรีย์ในลำไส้) นำเสนอโซลูชันด้านสุขภาพที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล คว้ารางวัลนี้ไปครอง

 

นอกจากนี้ ทุกทีมที่ผ่านเกณฑ์ของหลักสูตร ยังได้รับสิทธิประโยชน์พร้อมการสนับสนุนเครื่องมือต่อยอดทางธุรกิจ รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

 

ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาด้าน UX/UI จาก Beacon Interface, Cloud Credit จาก Amazon Web Service (AWS), และ Co-working Space จาก True Digital Park รวมทั้งประกาศนียบัตรจาก KATALYST by KBank และประกาศนียบัตรสำเร็จหลักสูตรการเรียนรู้แบบออนไลน์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดถือเป็นใบเบิกทางสำคัญขยายเครือข่ายธุรกิจต่อไป

KBank touts the success of its Thai startup enabler program which creates business models for sustainable growth

Posted on by beaconvcadmin

KASIKORNBANK has touted the success of its KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 program to equip participants with a ‘Recipe for Success’ for world-class startups. During an eight-week intensive course, a total of eight teams were shortlisted to pitch their ideas in the competition to win cash prizes and solutions to accelerate business growth, which are worth more than 800,000 Baht. In the final round, “Project EV” won the 1st prize for its business plan on comprehensive solutions for the conversion of internal combustion engine (ICE) for commercial trucks to electric vehicles (EVs) for businesses, plus charging station installation service at product distribution centers. As Thai startups have showcased innovative ideas which focus more on sustainability in line with the prevailing business trend, KBank plans to continue supporting Thai startups with more projects to come.

Mr. Thanapong Na Ranong, Managing Director, Beacon Venture Capital Co., Ltd, (Beacon VC), said that the KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2022 program has been conceived from KBank’s commitment to the development of Thai startups to ensure their solid growth. Focus has been on equipping them with knowledge and numerous techniques so that they have a better understanding of real-world business practices, especially through training courses imparted by experts. The activity aims to enable participants to create their own business infrastructure and apply knowledge gained in a tangible manner. KBank has organized this activity for the third consecutive year. In 2022, more than 250 startups signed up for the project, 65 of which passed the selection criteria to participate in the training. They come from a diverse range of businesses, covering all needs in the market, and have the capabilities to strengthen the ecosystem.

Throughout the eight-week intensive training, participating startups attended a program which is part of the Stanford Thailand Research Consortium’s research projects, led by Associate Professor Charles (Chuck) Eesley of Stanford University. In this session, they were equipped with knowledge on the startup business that places emphasis on sustainable growth. The final eight startups, with outstanding performance, were selected to present to a panel of judges their diverse range of unique ideas, such as educational, health and agricultural technologies, electric vehicle engineering, advanced hydro technology, and carbon credit solutions. Many of the participating startups presented interesting ideas that meet the business sector’s needs in the transition to a green society.

Regarding the contest results, the winning team is “Project EV” for its comprehensive solutions of the conversion of an internal combustion engine (ICE) car to an electric vehicle (EV) for logistics business clients. The second runner-up is HealthTAG for its idea of blockchain-based medical data management service that could lead to the seamless exchange, linkage, and integration of patient-centric health data. The third runner-up was the LEET CARBON Team, which developed a solution designed for managing, tracking, and monitoring carbon credit projects by using geospatial data and nature-based solutions efficiently and transparently. All three winning teams received prize money and the solutions for accelerating their business growth. The combined value of prizes under the project topped 800,000 Baht. Additionally, participants who meet all the program criteria will receive a certificate from KATALYST by KBank and a statement of participation from Stanford Online for completing the online learning program. This also provides a great opportunity for business network expansion with several leading domestic and international companies.

Mr. Thanapong added, “KBank will continue to organize activities to promote the startup community in various forms such as seminars for knowledge and experience sharing, projects for business collaboration with KBank, advisory service and solutions to enhance startup capability and efficiency in operating their business for long-term sustainable growth.”

Play to Earn คืออะไร? เมื่อเทคโนโลยีคริปโตเข้ามามีบทบาทในวงการเกม

Posted on by admin_beacon_2024

Play to Earn คือรูปแบบเกมที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งแรงจูงใจของผู้เล่นอาจไม่ใช่เพื่อความสนุกหรือผ่อนคลายอย่างเดียว แต่คือเม็ดเงินที่ตามมาในรูปของ Cryptocurrency ที่อาจพลิกโฉมวงการเกมในระยะยาวได้เลยทีเดียว จากเดิมที่คนเคยมองว่าเกมเป็นงานอดิเรก แต่อีกไม่นาน Play to Earn อาจอันเป็นงานหลักที่สร้างรายได้ของใครหลาย ๆ คนก็ได้

ดูน่าสนใจใช่ไหมล่ะ งั้นมาทำความรู้จัก Play to Earn ให้มากขึ้นกันดีกว่าว่าคืออะไร แตกต่างจากเกมทั่วไปอย่างไร ได้เงินจากการทำอะไรบ้าง พร้อมตัวอย่างเกม Play to Earn ชื่อดัง และคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเล่นเกม Play to Earn

 

Play to Earn คืออะไร

Play to Earn คือ “เกมที่เล่นแล้วมีรายได้” บ้างก็เรียกว่าเกม NFT แต่รายได้นั้นจะไม่เหมือนกับเกมทั่วไปที่เป็นการสะสมเหรียญหรือเพชรไปแลกเป็นเงิน เนื่องจาก Play to Earn เป็นรูปแบบเกมที่มีระบบ Blockchain และ Cryptocurrency มาเกี่ยวข้อง โดยรายได้จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1. Non-Fungible-Token (NFT) หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ไอเทมหรือของสะสมของเราที่ได้มาจากการเล่นเกมแล้วนำไปซื้อขายใน NFT Marketplace

2. Fungible-Token หรือสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ อย่างใน Play to Earn ส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญที่อยู่ในบล็อกเชนของ Etherium และ Binance ซึ่งแต่ละเกมมักจะมีการสร้างเหรียญเกมของตัวเองขึ้นมา เช่น เหรียญ SAND จาก The Sandbox ที่สร้างบน Ethereum Blockchain มาตรฐาน ERC-20 ถ้าเล่นเกมชนะหรือทำภารกิจสำเร็จก็รับเหรียญนี้ไปเลย จะเอาไปซื้อไอเทมหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินก็ได้

รูปภาพจาก Sensorium

 

Play to Earn แตกต่างจากเกมทั่วไปอย่างไร

1. ผู้เล่นเป็นเจ้าของทรัพย์สินดิจิทัลทั้งหมด โดยสามารถนำไอเทมหรือของสะสมมาไปทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนในรูปแบบ NFT กับผู้เล่นคนอื่น ๆ รวมถึง Content Creators หรือแม้แต่ Game Developers เอง ต่างจากเกมทั่วไปบางเกมที่เราต้องซื้อไอเทมต่าง ๆ กับทาง Game Developers อย่างเดียว ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ประกอบการในเกม

2. สินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่าในโลกความจริง สามารถแลกเปลี่ยนมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเงินในเกมทั่วไปบางเกมจะไม่ใช่เงินจริง

3. มีความยุติธรรมในการเล่น เพราะเกมที่ใช้บล็อกเชนนั้นจะมีความโปร่งใสมากกว่าเกมประเภทอื่น ๆ พอสมควร ผู้เล่นทุกคนมีสิทธิในการตัดสินใจในเกมอย่างเท่าเทียมกัน ต่างจากเกมทั่วไปบางเกมที่การชนะหรือแพ้จะขึ้นอยู่กับการกำหนดของ Game Developers ของแพลตฟอร์มนั้น ๆ

นอกจากนี้ บางเกมยังสามารถนำ Token มาใช้ในการกำกับดูแลได้อีกด้วย เช่น โหวตลงคะแนนเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายหรือพัฒนาเกมให้ดีขึ้น

เราจะหารายได้จากการเล่น Play to Earn ได้อย่างไร

 

1. การแข่งขันหรือมีส่วนร่วมในภารกิจ

เมื่อเล่นเกม Play to Earn ผู้เล่นสามารถสะสมทรัพย์สินในเกมได้ผ่านการแข่งขัน การดวล หรือการทำภารกิจต่าง ๆ ที่มีรางวัลให้ และถ้ายิ่งพัฒนาตัวละครให้ดีขึ้นมากเท่าไร โอกาสที่จะเล่นแล้วชนะก็ยิ่งสูงขึ้น

 

2. การขายสินทรัพย์ในรูปแบบ NFT

ไม่ว่าจะขายสกิน ที่ดินเสมือน หรือไอเทมต่าง ๆ ที่ได้มาจากการเล่นเกมหรือซื้อมา ยิ่งเป็นของหายาก ยิ่งมีมูลค่ามาก ซึ่งผู้เล่นสามารถนำไปซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนผ่าน NFT Marketplace ได้

 

3. การลงทุน

เกมไหนยิ่งได้รับความนิยม มูลค่าของทรัพย์สินในเกมก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ดึงดูดให้คนจำนวนมากเข้ามาลงทุนกับทรัพย์สินใน Play to Earn มีการก่อตั้งกิลด์หรือกลุ่มช่วยเหลือผู้เล่นขึ้นมา เพื่อให้ผู้เล่นที่ไม่มีเงินซื้อตัวละครหรือไอเทมเจ๋ง ๆ สามารถยืมไปเล่นก่อน หรือจะเปิดให้คนอื่นเอาเงินมาลงทุนให้เราเล่น เมื่อได้กำไรแล้วค่อยเอามาแบ่งกัน

 

ตัวอย่างเกม Play to Earn ชื่อดัง

 

1. Axie Infinity

Axie Infinity ถือเป็น Play to Earn ที่ได้รับความนิยมสูงมาก รูปแบบเกมจะมีทั้งการผ่านด่านผจญภัยและการนำมอนสเตอร์มาต่อสู้กันเพื่อให้เลเวลอัป โดยมีสิ่งที่จูงใจผู้เล่น คือ สกุลเงินในเกมที่เรียกว่า Small Love Potion (SLP) และ Axie Infinity Shard (AXS) ที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินดิจิทัล Binance และ Etherium ได้ ทั้งนี้ Axie แต่ละตัวจะเป็น NFT ได้นั้น ขึ้นอยู่กับเลเวลและความสามารถในการต่อสู้ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละเผ่าพันธุ์นั่นเอง

สามารถเล่นได้ที่ Axie Infinity

 

2. The Sandbox

The Sandbox เป็น Play to Earn แบบ Virtual Metaverse หลังจาก Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนราคาเหรียญ SAND ที่เป็นสกุลเงินของแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนรูปแบบเกมนั้นค่อนข้างอิสระ เพราะสามารถเลือกได้ว่าอยากทำอะไรในโลกเสมือนแห่งนี้ จะเป็นเจ้าของที่ดิน นักสะสม ศิลปิน เล่นเกม หรือสร้างเกมของตัวเองก็ได้ หากใครต้องการซื้อที่ดินดิจิทัลหรืออสังหาริมทรัพย์ The Sandbox ถูกยกให้เป็นหนึ่งแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเลยล่ะ

สามารถเล่นได้ที่ The Sandbox

 

3. Mines of Dalarnia

Mines of Dalarnia เป็น Play to Earn แนวผจญภัย ใช้เหรียญ DAR เป็นสกุลเงินในเกม รูปแบบเกมจะเป็นขุดหาสิ่งของ อย่างแร่ธาตุ ของโบราณ หรือสิ่งประดิษฐ์ มีการต่อสู้กับมอนสเตอร์เพื่อชิงไอเทมหายาก ซึ่งสามารถนำไปขายเป็น NFT ได้ หากได้เป็นเจ้าของที่ดินก็สามารถปล่อยเช่าหรือซื้อขายได้เหมือนในชีวิตจริงเลย

สามารถเล่นได้ที่ Mines of Dalarnia

 

4. My Neighbor Alice

My Neighbor Alice เป็น Play to Earn ที่มาในแนวทำฟาร์ม รูปแบบการเล่นเกมจะมีทั้งการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ สร้างสิ่งก่อสร้าง ตกปลา เควสกับ NPC เพื่อรับเหรียญ Alice และยังทำกิจกรรมกับผู้เล่นคนอื่น ๆ ได้ด้วย นอกจากนี้ ผู้เล่นสามารถตกแต่งที่ดินและนำไปขายเป็น NFT หรือจะขายไอเทมที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก Alice ก็ได้

สามารถเล่นได้ที่ My Neighbor Alice

 

5. Mobox

Mobox เป็นแพลตฟอร์มที่ผสมผสานระหว่าง DeFi กับเกม NFT อยู่บน Binance Smart Chain โดยมีเหรียญ MBOX เป็นสกุลเงินของแพลตฟอร์ม ฟังก์ชันหลัก ๆ ของ Mobox ได้แก่ MOMO Farmer ที่ให้ผู้ใช้สัมผัสประสบการณ์ DeFi เช่น การให้ผู้ใช้ทำหน้าที่เป็น Liquidity Provider ให้กับแพลตฟอร์มและรับรางวัลเป็นเหรียญ MBOX ฟังก์ชันถัดไปคือ Game ที่เป็นการต่อสู้เพื่อแลกกับรางวัล, NFT Marketplace เอาไว้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และ Governance ไว้เพื่อโหวตข้อเสนอต่าง ๆ

สามารถเล่นได้ที่ Mobox

อยากเล่น Play to Earn ต้องทำยังไง

สำหรับคนที่อยากเล่นเกม Play to Earn สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ หาเกมที่เราสนใจก่อน โดยสามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ playtoearn.net แนะนำให้ดู Insight ของเกมนั้น ๆ ว่ามีผู้เล่นมากน้อยแค่ไหน จำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้นมาเท่าไร และควรอ่าน Whitepaper ก่อนเล่นเกมนั้นทุกครั้ง

อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญสำหรับคนที่จะเล่น Play to Earn เพื่อหารายได้ คือ ควรดูการเติบโตของเหรียญเกมนั้น ๆ ด้วย โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่ coinmarketcap.com

 

สิ่งที่ต้องมีก่อนเล่น Play to Earn

1. Account สำหรับแลกเปลี่ยน Cryptocurrency
2. Software Wallet หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล เอาไว้เก็บ Cryptocurrency
3. Hardware Wallet เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยที่สุด โดยรูปแบบจะคล้ายกับ USB แนะนำให้ใช้เพื่อป้องกันการถูกแฮ็กหรือโดนขโมยทรัพย์สิน
4. เงิน เนื่องจาก Play to Earn บางเกมไม่มี Free to Play จึงต้องใช้เงินซื้อตัวละครหรือไอเทมอื่น ๆ ก่อนเล่น อย่าง Axie Infinity เป็นต้น

 

Summary

 

Play to Earn คือเกมรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้เล่นสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง มาพร้อมกับความสนุกเพลิดเพลินที่อาจช่วยให้ผู้เล่นไม่ต้องเครียดมากนัก

ในอีกแง่หนึ่ง Play to Earn ก็เหมือนกับการลงทุน ที่ผู้เล่นจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้ดีพอ นอกจากจะเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือแล้ว เรื่องสกุลเงินดิจิทัลก็เป็นสิ่งสำคัญหากเราต้องการสร้างรายได้จากช่องทางนี้ เพราะมีแนวโน้มปรับขึ้นลงตามสถานการณ์ และถ้า Game Developers ออกแบบ Tokenomics มาไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดการ Oversupply ที่จำนวนเหรียญมีมากกว่าผู้เล่นได้

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเกม Play to Earn อาจเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับให้เข้ากับโลก Metaverse มากขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่อาชีพเกมเมอร์และครีเอเตอร์จะขึ้นมาเป็นอาชีพที่ได้รับนิยมอันดับต้น ๆ เราอาจได้เห็นทั้งอาชีพเกมเมอร์และนักลงทุนในคนเดียวกันก็เป็นได้

อ้างอิง:

Tokenization เทคโนโลยีที่จะกลายเป็นอนาคตของโลกออนไลน์

Posted on by admin_beacon_2024

แม้ Tokenization อาจจะไม่ใช่คำที่คุ้นหูสักเท่าไรนัก แต่ถือเป็นเรื่องใหม่ที่น่าจับตามองมาก ๆ เพราะว่ากันว่า เทคโนโลยีตัวนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับการเงินในอนาคตเลยทีเดียว ลองนึกภาพว่า ในอนาคตเราสามารถซื้อที่ดินได้แค่ปลายนิ้วคลิกเหมือนที่เราซื้อของในเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้เอกสารอะไรเลย เริ่มน่าสนใจขึ้นมาแล้วใช่ไหมล่ะ

 

ต้นกำเนิดของการใช้ Token

ก่อนจะเข้าใจว่า Tokenization คืออะไร เรามาย้อนกลับไปยังประเทศอังกฤษในศตวรรษที่ 17-19 กันก่อน ในยุคนั้น ยังไม่มีเงินที่ออกโดยรัฐบาลอย่างชัดเจน Token จึงถูกนำมาใช้แทนมูลค่าของเหรียญเพื่อซื้อสินค้าบางประเภทตามที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงกันไว้

Tokenization คืออะไร

คอนเซปต์ของ Token ยังได้ถูกนำมาใช้ในปัจจุบัน ซึ่ง Tokenization เองก็ได้นำคอนเซปต์เดิมนี้กลับมาอีกครั้ง อธิบายง่าย ๆ คือ มันเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้การซื้อขายผ่านออนไลน์ง่ายยิ่งขึ้นและปลอดภัยมากกว่าเดิม เพราะมูลค่าของมัน คือ การทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน (ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย) กลายเป็น Token เมื่อมีการทำธุรกรรมแบบออนไลน์ ระบบก็จะดึงข้อมูลใน Token ไปใช้แทนการใช้ข้อมูลส่วนตัวโดยตรง เท่ากับว่าการซื้อขายสินทรัพย์ไม่จำเป็นต้องกรอกเอกสารและไม่ต้องใช้เวลานานอีกต่อไป

 

Blockchain และ Tokenization เกี่ยวข้องกันอย่างไร

อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า คอนเซปต์ของ Token นั้นมีการใช้มาหลายศตวรรษ แต่สาเหตุที่ Tokenization เพิ่งจะถูกพูดถึงและนำมาใช้กับธุรกรรมออนไลน์นั้นเป็นเพราะการเข้ามาของ Blockchain เมื่อไม่นานมานี้นั่นเอง

Blockchain คือ เทคโนโลยีที่ช่วยจัดเก็บข้อมูลโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยสูง เกิดการโกงหรือปลอมแปลงข้อมูลได้ยาก

เพราะฉะนั้น การใช้เทคโนโลยี Blockchian ใน Tokenization จะทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยสูงสุด แม้จะเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากอย่างที่ดินก็สามารถโอนกรรมสิทธิ์ผ่านโลกออนไลน์กันได้อย่างง่ายดาย

เตรียมรับมือกับ Tokenization ในอนาคต

ในอนาคต เราอาจจะอยู่ในโลกที่ใช้ Tokenization กันอย่างแพร่หลาย จึงควรรู้ข้อดีและข้อเสียของมันไว้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน

 

ข้อดี

  • ปกป้องความปลอดภัยของข้อมูล (Security of Information)
    เพราะ Tokenization เปิดให้ใช้ Token แค่ในระบบที่สามารถเข้าถึงได้เท่านั้น ทำให้การรักษาความปลอดภัยของฐานข้อมูลดี มีความแม่นยำกว่า และยากต่อการนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี
  • สามารถถือครองกรรมสิทธิ์แบบสัดส่วนได้
    ถือเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักว่าทำไม Tokenization จะกลายเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตเลยก็ว่าได้ เพราะ Asset tokenization สามารถแชร์ Token ได้ง่ายและปลอดภัย ช่วยให้เราแชร์กรรมสิทธิ์สิ่งของต่าง ๆ บนโลกจริงในโลกเสมือนได้ด้วยปลายนิ้ว
  • ทำธุรกรรมได้ง่ายกว่าเดิม
    เราไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารที่ยุ่งยากในการทำธุรกรรมอีกต่อไป เพราะ Tokenization เก็บข้อมูลของเราไว้ในระบบให้หมดแล้ว แถมระบบยังปลอดภัยทั้งกับผู้ซื้อและผู้ขายอีกด้วย

 

ข้อควรระวัง

  • ยังไม่มีข้อกฎหมายรองรับที่แน่นอน
    แม้ว่าจะทุกอย่างจะง่ายและรวดเร็วขึ้นเมื่อมี Tokenization แต่ข้อกฎหมายในแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ทำให้ยังเป็นข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน แม้การถือครองสินทรัพย์จะง่ายแค่ปลายนิ้ว แต่ก็อาจติดขัดเรื่องข้อกำหนดในแต่ละพื้นที่อยู่ดี
  • อาจมีเทคโนโลยีที่ข้อจำกัดน้อยกว่ามาแทนที่
    แม้ Tokenization จะน่าสนใจแค่ไหน แต่ในอนาคตก็อาจจะมีเทคโนโลยีที่มีข้อจำกัดน้อยกว่าและใช้ได้ในหลายแพลตฟอร์มมากกว่ามาแทนที่ได้ เพราะตอนนี้ Tokenization ยังไม่มีความแน่นอนในตัวเองขนาดนั้น การลงทุนในด้านนี้จึงอาจยังมีความเสี่ยงสูงอยู่นั่นเอง

 

Summary

 

แม้จะยังมีเรื่องให้ปรับแก้กันอีกมากแต่ Tokenization ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าจับตามองเพราะมีความเป็นไปได้สูงในอนาคต จากนี้ คงต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สุดท้ายแล้วโลกจะไปในทิศทางไหน และในระหว่างนี้จะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่หรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจเทคโนโลยีไว้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนในอนาคต เพราะอย่าง Tokenization เองก็เกี่ยวข้องกับ Blockchain ที่มีแนวโน้มเติบโตและพัฒนาขึ้นทุกวัน การศึกษาข้อมูลเรื่องนี้อย่างละเอียดจะช่วยให้เราเข้าใจภาพรวมและความเป็นไปได้ก่อนการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

อ้างอิง:

รู้จัก Robo Advisor ผู้ช่วยวางแผนการลงทุนอัจฉริยะ

Posted on by admin_beacon_2024

โลกยุคใหม่ที่ผู้คนหันมาสนใจลงทุนบวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ Robo Advisor ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเข้าถึงคนทั่วไปที่อยากลงทุนและต้องการที่ปรึกษาคอยช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังทำลายข้อจำกัดเกี่ยวกับการลงทุนหลายด้าน ทั้งเงินลงทุนที่ไม่มากนัก รวมถึงตอบโจทย์ผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาข้อมูลด้านการลงทุนอีกด้วย

ถ้าอยากรู้ว่า Robo Advisor คืออะไร ทำงานอย่างไร เหมาะกับเราหรือไม่ มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว

 

Robo Advisor คืออะไร

Robo Advisor คือ “แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการวางแผนการเงินและการลงทุนแบบอัตโนมัติ โดยใช้อัลกอริทึมที่นำทักษะจากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมาทำงานแทนมนุษย์” พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ใช้ AI เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนนั่นเอง ซึ่งหน้าที่ของ Robo Advisor จะคอยจัดพอร์ต ออกแบบสัดส่วนการลงทุน บริหาร และปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing) ตามวัตถุประสงค์และความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของเรา

 

หลักการทำงานของ Robo Advisor

ก่อนเข้าสู่การทำงานของ Robo Advisor ผู้ลงทุนจะต้องระบุข้อมูลส่วนตัว จำนวนเงินที่ต้องการลงทุนครั้งแรก ระยะเวลาในการลงทุน และเงินลงทุนรายเดือน รวมถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุน เช่น เพื่อเก็บออม เพื่อสร้างผลกำไร เพื่อการเกษียณ หรือเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น จากนั้นจะให้เลือกระดับความเสี่ยง ซึ่งมีตั้งแต่เสี่ยงต่ำมากไปจนถึงเสี่ยงสูงมาก

เมื่อระบุข้อมูลและความต้องการเสร็จเรียบร้อยแล้ว Robo Advisor จะจัดพอร์ตและแบ่งสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และระดับความเสี่ยงตามที่เราเลือกไว้ โดยอ้างอิงจากข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการใส่ไว้ข้างต้น หากผู้ลงทุนพอใจกับพอร์ตที่ Robo Advisor ออกแบบให้ หลังจากนี้จะเป็นการเริ่มบริหารและปรับสมดุลพอร์ตอัตโนมัติตามสภาวะตลาด ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดตามพอร์ตของตัวเองได้ตลอดเวลาผ่านแอปพลิเคชัน

Robo Advisor เหมาะกับใคร

Robo Advisor เหมาะกับ “ทุกคนที่ต้องการลงทุน” โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเวลาศึกษาข้อมูลหรือยังมีความรู้ด้านการลงทุนไม่มากพอ ผู้ที่ไว้ใจเทคโนโลยีในการลงทุน และผู้ที่ไม่อยากใช้เงินครั้งละมาก ๆ ในการลงทุนด้วย

 

ข้อดี-ข้อเสียของ Robo Advisor

 

ข้อดี

1. คนทั่วไปเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากการลงทุนด้วย Robo Advisor ใช้เงินลงทุนไม่มากและเน้นความสม่ำเสมอ จึงเข้าถึงคนทั่วไปที่อยากเริ่มลงทุนได้ง่ายขึ้น ทั้งยังตอบโจทย์ผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาข้อมูลด้านการลงทุนอีกด้วย

2. ค่าธรรมเนียมต่ำ
แน่นอนว่าการให้ Robo Advisor เป็นที่ปรึกษาในการลงทุนค่าธรรมเนียมย่อมต่ำกว่าอยู่แล้ว จากปกติที่ Human Advisor มักชาร์จเพิ่ม 1-2% ของมูลค่าพอร์ต แต่ Robo Advisor บางตัวชาร์จเพียง 0.25-0.5% เท่านั้น นอกจากนี้ ยังไม่คิดค่าคอมมิชชันในการซื้อ-ขายและปรับพอร์ต ซึ่ง Human Advisor บางรายมีการคิดเงินในส่วนนี้เพิ่มเติม

3. ปรับพอร์ตให้อัตโนมัติ
ข้อดีของ Robo Advisor คือจะปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing) ให้อัตโนมัติเพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้ ซึ่งผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องมาบริหารหรือซื้อ-ขายเอง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Robo Advisor ช่วยจัดการ

4. ไม่ใช้อารมณ์ตัดสินใจลงทุน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนหลายคน คือ บางครั้งมักจะตัดสินใจซื้อ-ขายสินทรัพย์ด้วยอารมณ์แทนที่จะพิจารณาจากข้อเท็จจริง ส่งผลให้ขาดทุนกว่าที่ควรจะเป็น แต่การใช้ Robo Advisor จะตัดส่วนอารมณ์นี้ออกไป โดยจะวิเคราะห์สภาวะตลาดและพิจารณาขายสินทรัพย์ก็ต่อเมื่อราคาตลาดอยู่ในเกณฑ์ดีแล้วเท่านั้น

5. ใช้งานง่ายและปลอดภัย
เนื่องจากบริการ Robo Advisor สามารถใช้งานได้บนมือถือ จึงทำให้การลงทุนนั้นง่ายดายและสะดวก แถมยังติดตามพอร์ตได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ ยังมีการแสดงประวัติการซื้อ-ขายแจ้งให้ทราบ ซึ่งมั่นใจได้ว่าปลอดภัยและโปร่งใสแน่นอน

ข้อเสีย

1. ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลได้ 100%
ในบางครั้งผู้ลงทุนอาจอยากซื้อ-ขายกองทุนด้วยตัวเองเพราะคิดว่าผลลัพธ์น่าจะดีกว่า แต่ด้วยข้อจำกัดของ Robo Advisor กลับไม่สามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้ เนื่องจากบางอย่างจำเป็นต้องเป็นไปตามกลยุทธ์ของ Robo Advisor นั่นเอง

2. มีข้อจำกัดในการเลือกสินทรัพย์
โดยปกติ Robo Advisor จะเป็นผู้คัดเลือกและแบ่งสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะกับวัตถุประสงค์และความเสี่ยงตามที่เลือกไว้ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกสินทรัพย์ตามแผนใดก็ได้ที่ Robo Advisor ออกแบบไว้ให้ แต่จะไม่สามารถเลือกตามใจตัวเองหรือปรับแต่งเองได้ทั้งหมด ซึ่งในบางครั้งอาจจะจำกัดให้ลงทุนเฉพาะกองทุนรวมอย่างเดียว

3. ไม่สามารถปรึกษาแบบ Face-to-Face ได้
ข้อจำกัดของการมีที่ปรึกษาการลงทุนเป็น AI คือเวลาไม่แน่ใจหรือไม่สบายใจเกี่ยวกับการลงทุน ผู้ลงทุนจะไม่สามารถปรึกษาหรือพูดคุยได้เหมือนกับการมีที่ปรึกษาเป็นมนุษย์

4. อาจทำให้เข้าใจว่าไม่ต้องศึกษาเรื่องการลงทุน
แม้ Robo Advisor จะบริหารและปรับสมดุลพอร์ตให้เราอัตโนมัติ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ลงทุนจะไม่ต้องศึกษาเรื่องการลงทุนหรือติดตามพอร์ตเลย เพราะบางอย่างยังต้องอาศัยความเข้าใจด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม มีความรู้ย่อมดีกว่าไม่มี เพื่อที่ในอนาคตจะได้มีโอกาสลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ มากขึ้น

 

Summary

 

การทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ในการลงทุนคือสิ่งแรกที่นักลงทุนทุกคนควรรู้ เพื่อที่จะกำหนดทิศทางการลงทุนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และถึงแม้จะมี Robo Advisor ช่วยผ่อนแรงในเรื่องการศึกษาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน แต่ถ้าอยากไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น ความรู้ก็ถือเป็นบันไดที่จะทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายนั้น

อ้างอิง:

Altcoin คืออะไร? เข้าใจวงจรฤดูกาล Alt season ในวงการคริปโต

Posted on by admin_beacon_2024

วงการ Cryptocurrency ไม่ได้มีแค่ Bitcoin ที่อยู่บนบังลังก์เพียงคนเดียว แต่ยังมี Altcoin ที่สามารถทำกำไรได้มากกว่าในช่วง Alt Season ถ้าอยากรู้ว่า Altcoin คืออะไร มีกี่ประเภท แตกต่างจาก Bitcoin อย่างไร และฤดูกาล Alt Season จะมาช่วงไหน คำตอบรอคุณอยู่ที่นี่แล้ว!

 

Altcoin คืออะไร?

“Altcoin” หรือ “Alternative Coin” แปลว่า “เหรียญทางเลือก” คือ เงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency สกุลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ Bitcoin โดย Altcoin ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรอชิงบัลลังก์ Bitcoin หลังจากเห็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ แต่เงื่อนไขในการใช้ก็จะแตกต่างกันไป ที่น่าตื่นเต้นไปกว่านั้น คือ ขณะนี้ทั่วโลกมี Altcoin มากกว่า 11,000 สกุลแล้ว ซึ่งคิดเป็นประมาณ 40% ของตลาดคริปโตทั้งหมด

ตัวอย่าง Altcoin ที่เราอาจคุ้นเคย เช่น Ethereum, Dogecoin, Litecoin, Binance Coin (BNB) เป็นต้น

 

Altcoin มีกี่ประเภท

 

BITCOURIER ได้แบ่งประเภทของ Altcoin เอาไว้ 4 ประเภท ได้แก่

 

1. Proof-of-Work (PoW) Altcoins

ใช้การขุดเหมือนกับ Bitcoin ใครอยากมีส่วนร่วมก็มาขุด ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลมาก และนักขุดทุกคนสามารถร่วมตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้

ตัวอย่าง PoW altcoins: Ethereum (ETH), Bitcoin Cash (BCH), ZCash (ZEC), Litecoin (LTC)

 

2. Proof-of-Stake (PoS) Altcoins

ไม่ต้องขุดแต่ใช้เงินอย่างเดียว ซึ่งประหยัดพลังงานกว่า Proof-of-Work พูดง่าย ๆ ก็คือใครรวยมากจะมีโอกาสเข้ามายืนยันการทำธุรกรรม แต่ก็ต้องวางเงินเป็นหลักประกันมากด้วยเช่นกัน ดังนั้น การยืนยันจึงโปร่งใสเพราะมีเงินค้ำประกันอยู่

ตัวอย่าง PoS altcoins: Ethereum 2.0 (ETH2), Cardano (ADA), Tezos (XTZ), Tron (TRX)

 

3. DeFi Altcoins

Altcoin ประเภทนี้เกิดมาเพื่อโค่นล้มตัวกลางอย่างธนาคาร ซึ่งคอนเซ็ปต์คล้ายกับ Bitcoin แต่ DeFi Altcoins จะสามารถเขียนคำสั่งที่ซับซ้อนลงไปได้ นำมาซึ่ง “สัญญาอัจฉริยะ” (Smart Contact) ที่ใช้ในการทำธุรกรรมเพื่อป้องกันการโกง ในขณะที่ Bitcoin ยังไม่สามารถเขียนคำสั่งที่ซับซ้อนได้

ตัวอย่าง DeFi altcoins: Compound (COMP), Uniswap (UNI), PancakeSwap (CAKE), Aave (Lend), Synthetix (SNX)

 

4. Stablecoins

Altcoin ประเภทนี้เกิดมาเพื่อทำให้ราคาเงินดิจิทัลเสถียรมากขึ้น โดยอ้างอิงมูลค่าเหรียญไว้กับอะไรบางอย่าง เช่น เงินดอลลาร์ เงินปอนด์ เงินยูโร หรือเงินดิจิทัลสกุลอื่น ๆ รวมไปถึงทองคำเพื่อลดความผันผวน แต่ก็มีบาง Stablecoins ที่ไม่ได้ถูกอ้างอิงจากสินทรัพย์ใด ๆ แต่ใช้กลไกลดจำนวนเหรียญเมื่อราคาเริ่มด้อยลง หรือเพิ่มจำนวนเหรียญเมื่อราคาเริ่มสูงเกินไป

ตัวอย่าง Stablecoins: Tether (USDt), Circle USD (USDC), PAX Gold (PAXG), Gemini USD (GUSD)

Altcoin vs Bitcoin แตกต่างกันอย่างไร

 

Bitcoin

Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลตัวแรกที่มีมูลค่าสูงสุดในวงการ Cryptocurrency ซึ่งใช้ เทคโนโลยีบล็อกเชน ทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ โดยไม่ต้องผ่านคนกลางอย่างธนาคาร พูดง่าย ๆ คือ อยู่ที่ไหนบนโลกก็สามารถทำธุรกรรมการเงินข้ามประเทศได้ แถมค่าธรรมเนียมยังถูกกว่ามาก ทั้งยังปลอดภัยสูงและน่าเชื่อถือ เรียกได้ว่ายังไม่มีใครเคยแฮ็กและปลอมแปลงข้อมูลได้เลย

 

Altcoin

Altcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลตัวอื่น ๆ ที่เกิดหลัง Bitcoin ดังนั้น เทคโนโลยีเบื้องหลังจึงมีการพัฒนาให้ใหม่กว่า เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย

นอกจากนี้ ยังมีความผันผวนสูงกว่า Bitcoin เมื่อไรที่ราคาของ Bitcoin ลดลง ราคาของ Altcoin บางตัวจะลดลงมากกว่า Bitcoin เกือบสองเท่า

แต่เมื่อไรที่ Altcoin ราคาพุ่ง ก็จะวิ่งแรงแซงหน้า Bitcoin ไปเลย จึงไม่แปลกที่นักลงทุนจะชอบความผันผวนนี้เพราะทำกำไรได้เร็ว

รู้จัก Alt Season คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?

Alt season คือ ช่วงเวลาที่ Altcoin ส่วนใหญ่ให้ผลกำไรมากกว่า Bitcoin โดยฤดู Alt season เกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

  • Altcoin ได้รับความนิยม มีเหรียญใหม่ ๆ ออกมามากขึ้น หรือเหรียญเดิมปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ Bitcoin Dominance เปลี่ยนแปลง ตอนนี้เองที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า Alt Season กำลังมาแล้ว
  • Altcoin เจ้าใหญ่ ๆ มีราคาสูงกว่า Bitcoin เช่น Ethereum (ETH), Ripple (XRP) หรือ Binance Coin (BNB) เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดึงให้ Altcoin ตัวอื่น ๆ ราคาพุ่งสูงไปด้วย
  • Bitcoin Dominance ลดลง เกิดจากนักลงทุนหน้าใหม่เทเงินลงใน Altcoin เพราะคิดว่า Bitcoin เริ่มแพงและหวังว่า Altcoin จะเติบโตได้มากกว่านี้

จะรู้ได้อย่างไรว่า Alt Season กำลังจะมา

หากอยากรู้ว่า Alt Season จะมาเมื่อไร สามารถดูได้จาก Bitcoin Dominance ซึ่งเป็นกราฟแสดงสัดส่วนของคนที่ถือ Bitcoin กับ Altcoin อยู่

ถ้า Bitcoin Dominance อยู่ที่ 60 แสดงว่าสัดส่วนของคนที่ถือ Bitcoin : Altcoin = 60 : 40 ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องดูราคาของ Bitcoin ควบคู่ไปด้วย

  • Bitcoin Dominance ลง ราคา Bitcoin Sideway (ไม่มีแนวโน้มชัดเจน) แสดงว่าเริ่มเข้าสู่ Alt Season เพราะเห็นว่าราคาของ Bitcoin ไม่วิ่งไปไหนสักที คนจึงเริ่มเอาเงินไปลงที่ Altcoin ที่มีแนวโน้มวิ่งได้แรงกว่า
  • Bitcoin Dominance ลง ราคา Bitcoin ขึ้น ทำให้คนหันมาสนใจ Altcoin จนเกิดฤดูกาล Alt Season เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็น Altcoin ทำกำไรได้มากกว่า แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จะเทขาย Bitcoin เพื่อมาเก็งกำไรใน Altcoin ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งเหมือนกับปี 2018 หรือไม่ ที่ราคา Bitcoin ตกลงอย่างรวดเร็วถึงขั้นติดลบไปกว่า 80% จากราคา 20,000 ดอลลาร์ เหลือแค่ 3,000 ดอลลาร์ ส่งผลให้ Altcoin ที่มาแรงในช่วงนั้นตกกระไดพลอยโจนไปด้วย ติดลบกันระนาว 80-90% ที่น่าเสียดาย คือ Altcoin บางเหรียญหายไปและไม่กลับมาอีกเลย

 

Summary

 

สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครรู้ได้ว่า Alt Season จะอยู่นานแค่ไหน? และ Altcoin จะพลิกโฉมวงการคริปโตและผงาดขึ้นมาแทนที่ Bitcoin หรือไม่? แต่สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกำไรอย่างรวดเร็ว Altcoin ถือเป็นทางเลือกที่ดีทีเดียว อย่างไรก็ตาม Altcoin ขึ้นชื่อเรื่องความผันผวนสูง เพราะฉะนั้น ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนลงทุน

อ้างอิง:

API คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญในการทำการตลาดออนไลน์

Posted on by admin_beacon_2024

หลายคนอาจไม่รู้จัก API ว่าคืออะไร ถ้าให้ใกล้ตัวที่สุดคงจะเป็นแอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรีที่มักดึงแผนที่จาก Google Map มาอยู่ในแอปฯ ของตัวเองโดยไม่ต้องสร้างแผนที่ขึ้นมาใหม่

แต่นี่เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการใช้ API เท่านั้น ยังมีอีกหลายรูปแบบที่เราไม่รู้มาก่อนอีกด้วย ซึ่งพูดได้เต็มปากเลยว่า เกือบทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราล้วนใช้ API ทั้งสิ้น แต่ก่อนที่จะไปดู เรามาทำความรู้จัก API เบื้องต้นกันก่อนว่าคืออะไร ทำไมนักการตลาดออนไลน์ถึงควรให้ความสำคัญ ถ้าพร้อมแล้ว! ตามมาเลย

 

API คืออะไร

API (Application Programming Interface) คือ ตัวกลางที่เชื่อมต่อระหว่าง “ผู้ใช้บริการ” กับ “ผู้ให้บริการ” โดยทั้งสองต่างเป็นโปรแกรมด้วยกันทั้งคู่ เมื่อผู้ใช้บริการต้องการข้อมูลบางอย่าง API จะทำหน้าที่ส่งต่อคำขอไปยังผู้ให้บริการและส่งข้อมูลกลับมาที่ผู้ใช้บริการโดยอัตโนมัติ แต่มีข้อแม้ว่าผู้ให้บริการจะต้องยินยอมเปิดข้อมูลนั้นเพื่อให้นำไปใช้ได้

หากอ้างอิงจากตัวอย่างที่กล่าวไปตอนต้น แอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรี = ผู้ใช้บริการ, Google Map = ผู้ให้บริการนั่นเอง

สำหรับคนที่ยังไม่เห็นภาพมากนัก เราลองมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมติผู้ใช้บริการเปรียบเสมือนลูกค้าที่มาทานอาหารในโรงแรม เมื่อลูกค้าอยากทานเมนู A บริกรจะต้องรับคำสั่งและไปบอกให้ครัวจัดเตรียมอาหารและมาส่งให้กับลูกค้า ซึ่งบริกรก็คือ API ส่วนข้อมูลก็คืออาหารในห้องครัวนั่นเอง

 

ชนิดของ API

  • Private API: นิยมใช้กันภายในองค์กร คนนอกไม่สามารถใช้ได้
  • Partner API: ใช้ได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
  • Public API: ทุกคนสามารถใช้ได้

 

ทำไม API ถึงสำคัญในการทำการตลาดออนไลน์

 

1. เพิ่มความคล่องตัวให้กับการทำงานของแบรนด์

API ช่วยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้กับแอปฯ หรือเว็บไซต์ของแบรนด์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งแบรนด์ไม่ต้องทำเองทั้งหมด แต่ให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ จัดการให้เรา เช่น เราขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ต้องมีการบวกภาษี เราอาจจะใช้ API ที่เป็นระบบคำนวณภาษีอัตโนมัติเข้ามาช่วย ซึ่งไม่ต้องคอยอัปเดตเองตลอดเวลาเมื่ออัตราภาษีมีการเปลี่ยนแปลง

 

2. เข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย

หนึ่งเหตุผลที่ทำให้ API สำคัญในการทำการตลาดออนไลน์ คือ API ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้เวลานาน สมมติลูกค้าจะขอ Statement บนแอปฯ ของธนาคารแห่งหนึ่ง API ก็จะทำหน้าที่ส่งคำขอและรับข้อมูลกลับมาส่งให้ลูกค้าทางอีเมลได้ทันที

 

3. สร้างความโดดเด่นให้เหนือกว่าคู่แข่ง

ไม่แปลกใจที่การใช้ API จะช่วยให้แบรนด์ดูโดดเด่น เพราะสิ่งนี้ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ปลายทาง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ชอบความสะดวกสบาย รวดเร็วทันใจ และแตกต่างจากผู้อื่น

หากลองสังเกตเราจะเห็นว่า ในไทยนิยมดู Netflix กันมากเพราะคอนเทนต์หลากหลาย แถมดูได้หลายอุปกรณ์ทั้ง Smart TV, Apple TV, Laptop, Tablet, Smartphone หรือแม้แต่ PS4-PS5 ซึ่งจริง ๆ แล้ว Netflix ไม่ได้พัฒนาซอฟแวร์เองเพื่อให้เล่นได้ทุกอุปกรณ์ แต่แค่เปิด API ให้นักพัฒนาซอฟแวร์เข้าถึงระบบของเขาได้นั่นเอง ทำให้ปัจจุบันมีอุปกรณ์มากกว่า 800 ชนิดที่สามารถเล่น Netflix ได้

 

4. ช่วยเพิ่มยอดขาย

ไม่ว่าจะทำธุรกิจประเภทไหน คุณสามารถเลือกใช้ API ที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณได้ เมื่อผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้ API ยอดขายก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

 

ตัวอย่างการใช้งาน API ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง

Social Media API

โดยปกติโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มมีการใช้ API ทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง

    • Facebook API เช่น การดึง Facebook Insight หรือ Automate Ad Management ที่สามารถสร้างเทมเพลตโฆษณาได้หลายอันพร้อมกันเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของโฆษณา
    • Instagram API เช่น Discovering @mentions ที่รวบรวมบัญชีที่กล่าวถึงแบรนด์เพื่อเก็บข้อมูลหรือตอบกลับคอมเมนต์
    • Youtube API เช่น การเปลี่ยนชื่อคลิปวิดีโอให้ตรงตามยอดวิวแบบเรียลไทม์ (เล่าเรื่องผี 1,000,000 วิว เมื่อเวลาผ่านไปมียอดถึง 2,000,000 วิว ชื่อคลิปก็จะเปลี่ยนให้อัตโนมัติ)

 

Google Ads API

Google Ads API เป็นตัวช่วยที่ให้ผู้ลงโฆษณาจัดการบัญชีและแคมเปญ Google Ads ขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่ามีประโยชน์ต่อกลุ่มเอเจนซีโฆษณา บริษัทที่ทำ SEM หรือแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่ต้องจัดการกับแอคเคานต์จำนวนมาก

โดยหลัก ๆ เราสามารถใช้ Google Ads API ดึงรีพอร์ตแบบกำหนดเองได้ (Custom Reporting), จัดการโฆษณาตามแต่ละพื้นที่ (Ad Management Based on Inventory) หรือวางกลยุทธ์การประมูล (Manage Smart Bidding Strategies) เป็นต้น

 

PayPal API

เมื่อเราซื้อสินค้าที่แอปฯ หนึ่งแล้วเลือกชำระเงินผ่าน PayPal แอปฯ จะส่งคำสั่งซื้อไปที่ PayPal API โดยระบุจำนวนเงินที่ต้องชำระพร้อมกับรายละเอียดที่สำคัญอื่น ๆ จากนั้นจะตรวจสอบสิทธิ์ผู้ใช้และยืนยันการซื้อ หากไม่มีปัญหาอะไร API จะส่งการยืนยันการชำระเงินกลับมาที่แอปฯ เพื่อบอกว่าการชำระเงินเสร็จสิ้นแล้ว

 

Login API

นี่น่าจะเป็น API หนึ่งที่เราคุ้นเคยกัน เคยไหมเวลาจะลงทะเบียนบนแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์มักจะมีปุ่ม “Login with Facebook” หรือ “Sign in with Google” ให้เราเลือกโดยที่ไม่ต้องกรอกอีเมลและรหัสผ่านใหม่ ซึ่งแอปฯ หรือเว็บไซต์จะเรียก API มาตรวจสอบว่าเราล็อกอิน Facebook หรือ Google ไว้แล้วหรือยัง ถ้า Login แล้ว เราก็สามารถลงชื่อเข้าใช้ผ่านปุ่ม “Login with Facebook” หรือ “Sign in with Google” ได้เลย

 

Financial Apps

ทุกธนาคารมีการใช้ API ภายในเพื่อจัดการการเงินของผู้ใช้บริการซึ่งมีการเชื่อม API ไปแต่ละแผนก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบัญชีออมทรัพย์ ข้อมูลบัตรเครดิต หรืออื่น ๆ นอกจากนี้ บางธนาคารยังมีการเปิด API ของตัวเองให้แอปฯ ของนักพัฒนาภายนอกสามารถเชื่อมกับแอปฯ ธนาคารเพื่อชำระเงินได้อีกด้วย

อย่าง Katalyst ก็ได้เปิด API ของตัวเองเช่นกัน นั่นก็คือ บริการ QR Payment ที่ให้ Partner ส่งข้อมูลมายัง API แล้วแปลงข้อมูลเป็น QR Code ทันทีเพื่อให้ลูกค้าสแกนชำระเงินได้สะดวก

 

Weather Apps

หากเราเคยเช็กสภาพอากาศผ่าน Google หรือ Siri รู้ไว้เลยว่าพวกเขาไม่ได้เป็นผู้รวบรวมสภาพอากาศด้วยตนเอง แต่เป็นการใช้ API ส่งคำขอเพื่อดึงข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยานั่นเอง

 

Summary

 

อ่านบทความนี้แล้ว หลายคนคงได้เห็นตัวอย่างการใช้ API กันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดึงแผนที่จาก Google Map มาใส่ไว้ในแอปฯ หรือเว็บไซต์ของตัวเอง การดึง Insight จากโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือการลงชื่อเข้าใช้โดยล็อกอินผ่าน Facebook, Google, เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น

หากลองสังเกตเราจะเห็นว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการทำการตลาดออนไลน์ นอกจาก API จะเพิ่มความคล่องตัวให้กับการทำงานของแบรนด์และเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายแล้ว ยังสามารถสร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์ได้อีกด้วย แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือยอดขายนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การใช้ API ยังมีอีกมากมาย ซึ่งนักการตลาดอย่างเราต้องไปค้นหาและนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับกับธุรกิจ ถึงวันนั้น เราอาจกลายเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จเร็วขึ้นก็เป็นได้

อ้างอิง:

ทางลัดของเหล่า Startup! ร่างโมเดลธุรกิจง่าย ๆ ด้วย Lean Canvas

Posted on by admin_beacon_2024

การร่างโมเดลธุรกิจอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่ถ้าคุณรู้จัก Lean Canvas คุณสามารถร่างโมเดลธุรกิจให้เสร็จได้ภายในครึ่งวัน และยังเล่าให้คนฟังเข้าใจได้ภายในไม่กี่นาที แถมยังพกพาไปได้ทุกที่ อยากเล่าเมื่อไรก็เล่าได้ เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับ Startup เลยทีเดียว

อยากรู้ว่า Lean Canvas คืออะไร ต่างจาก Business Model Canvas อย่างไร ทำไมถึงเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับ Startup และวิธีทำ Lean Canvas เป็นอย่างไร ไปดูกัน

 

Lean Canvas คืออะไร

 

Lean Canvas คือ เทมเพลต 9 ช่องสำหรับร่างโมเดลธุรกิจที่สามารถเห็นภาพรวมได้ใน 1 แผ่น ถูกใช้มากกว่า 1 ล้านคนโดยกลุ่ม Startup มหาวิทยาลัยและองค์กรขนาดใหญ่ มีตั้งแต่การระบุปัญหา กลุ่มเป้าหมาย จุดเด่นของธุรกิจ วิธีการแก้ปัญหา และอื่น ๆ

 

Lean Canvas ต่างจาก Business Model Canvas อย่างไร

 

  • Lean Canvas: ธุรกิจใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนทั้งเรื่องปัญหา ความต้องการของลูกค้า และอื่น ๆ
  • Business Model Canvas: มักใช้กับธุรกิจที่เริ่มมาสักพักและรับรู้ถึงปัญหากับความต้องการของลูกค้าแล้ว แต่ทำเพื่อให้เข้าใจภาพรวมของการวางกลยุทธ์ จึงไม่เหมาะกับธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น

ความเป็นจริงแล้ว Lean Canvas ดัดแปลงมาจาก Business Model Canvas ของ ‘Alex Osterwalder’ ซึ่งประกอบไปด้วย

 

Business Model Canvas

  • Key Partners
  • Key Activities
  • Key Resources
  • Value Proposition
  • Customer Relationships
  • Channels
  • Customer Segments
  • Cost Structure
  • Revenue Streams

 

Lean Canvas

Lean Canvas มีทุกอย่างที่เป็นส่วนประกอบของ Business Model Canvas แต่มีการปรับเปลี่ยน 4 หัวข้อเพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจหน้าใหม่มากขึ้น ดังนี้

  • Key Partners → Problems
  • Key Activities → Solutions
  • Key Resources → Metrics
  • Customer Relationships → Unfair Advantage
  • Unique Value Proposition
  • Channels
  • Customer Segments
  • Cost Structure
  • Revenue Streams

ทำไม Lean Canvas ถึงเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับ Startup

 

1. รวดเร็ว

เพราะ Lean Canvas ออกแบบมาให้เราร่างโมเดลธุรกิจเพียง 1 หน้ากระดาษเท่านั้น จากที่เคยใช้เวลาร่างแผนธุรกิจหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน Lean Canvas อาจใช้เวลาแค่ครึ่งวันในการเขียนออกมา

 

2. กระชับ

Lean Canvas บังคับให้เราต้องกลั่นกรองแต่สาระสำคัญ จึงกระชับและมีแต่เนื้อเต็ม ๆ ซึ่งง่ายต่อการแชร์ให้ผู้อื่นฟัง นอกจากนี้ ยังได้เปรียบในการดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนในระยะเวลาอันสั้นหรือที่เราเรียกว่า Elevator Pitch นั่นเอง

 

3. อัปเดตง่าย

หากต้องการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างใน Lean Canvas ก็สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ต้องแก้หลายส่วนให้เสียเวลาเพราะทุกอย่างจบในหน้าเดียว ทั้งยังสะดวกในการพกพา อยู่ที่ไหนก็จัดการได้

 

วิธีสร้าง Lean Canvas สำหรับธุรกิจ Startup

Lean Canvas แบ่งออกเป็น 9 ช่อง โดยสิ่งที่เราต้องเขียนในแต่ละช่อง มีดังนี้

 

1. Customer Segments: กลุ่มลูกค้าเป็นใคร

ในส่วนแรกเราต้องระบุว่ากลุ่มลูกค้าของเราเป็นใคร ถ้าจะให้ดีแนะนำว่าอย่าโฟกัสแค่กลุ่มลูกค้าปลายทางเพียงอย่างเดียว แต่ให้นึกถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นแพลตฟอร์มขายบ้าน ลูกค้าของเราอาจจะไม่ได้มีแค่ผู้เช่าและผู้ซื้ออย่างเดียว แต่อาจจะมีเจ้าของบ้านหรือตัวแทนด้วยก็ได้ เป็นต้น

*หากมีลูกค้ามากกว่า 1 กลุ่ม อาจจะต้องสร้าง Lean Canvas แต่ละกลุ่มขึ้นมาใหม่

 

2. Problem: พวกเขาเจอปัญหาอะไร

แนะนำให้ลิสต์มา 3 อันดับแรกที่เราจะแก้ไข และเพื่อให้ง่ายต่อการลิสต์ปัญหา ลองนึกถึงสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องเผชิญในชีวิตประจำวันว่ามีอะไรบ้าง ทั้งนี้ ตลาดที่แตกต่างกัน ปัญหาจะแตกต่างกันไปด้วย

 

3. Unique Value Proposition: มีจุดเด่นอะไรที่ลูกค้าต้องเลือกเรา

ในส่วนนี้ให้ลิสต์ว่าเรามีอะไรที่แตกต่างและไม่ซ้ำจำเจกับเจ้าอื่นบ้าง โดยพยายามดึงจุดแข็งที่เป็นเหตุผลว่าทำไมลูกค้าถึงต้องเลือกเรา

 

4. Solution: วิธีการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร

เมื่อเรามีปัญหาแล้ว แน่นอนว่าต้องมีวิธีแก้ ซึ่งการทำ Lean Canvas ในส่วนนี้เราอาจจะระดมสมองกับทีมเพื่อลิสต์วิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุดออกมา

ตัวอย่าง

  • Problem: ไม่สามารถเดินทางไปเซ็นเอกสารได้เนื่องจากอยู่ไกล
  • Solution: สร้าง eSign ให้ผู้ใช้เซ็นเอกสารออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

 

5. Channels: จะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร

 

ในที่นี้ไม่ใช่แค่รูปแบบการส่งสินค้า/บริการให้ถึงมือผู้รับอย่างเดียว แต่รวมถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายด้วย ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายช่องทาง เช่น

  • โซเชียลมีเดีย
  • โฆษณาทางทีวี/ วิทยุ
  • สื่อสิ่งพิมพ์ (ใบปลิว, โปสเตอร์, หนังสือพิมพ์ ฯลฯ)
  • ช่องทางส่วนตัว (โทรศัพท์, อีเมล, จดหมาย ฯลฯ)
  • การจัดอีเวนต์
  • การทำคอนเทนต์ (Website, Blog, Infographic, Guest Posts, Video)
  • Search Engine Platform (Google Ads, Google My Business)

 

6. Revenue Streams: รายได้มาจากช่องทางใดบ้าง

ในส่วนนี้จะระบุแหล่งรายได้ว่ามาจากรูปแบบไหนบ้างโดยเริ่มต้นจากการกำหนดราคาก่อน ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมคิดถึงรูปแบบรายได้ประจำของเราว่าจะมาจากอะไร ทางที่ดีควรประมาณรายรับต่อเดือนและระยะเวลาในการคืนทุนด้วยเพื่อประเมินความมั่นคงของธุรกิจ

 

7. Cost Structure: ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายมาจากอะไรบ้าง

ระบุต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายประจำทั้งหมด อย่าลืมว่าในระหว่างที่ธุรกิจกำลังดำเนินการอาจมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาซึ่งเราอาจคิดเผื่อไว้เลยก็ได้

 

8. Key Metrics: ตัวชี้วัดที่ใช้วัดความสำเร็จมีอะไรบ้าง

 

ประเภทธุรกิจที่แตกต่างกัน ค่า Metrics ที่ใช้วัดผลย่อมแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ควรเลือกให้ตรงกับรูปแบบธุรกิจของตัวเอง

ตัวอย่าง

  • Conversion Rate: คนเข้ามาที่เว็บไซต์ 1,000 คน มีคนซื้อสินค้า 200 คน CVR = 20%
  • Bounce Rate: เปอร์เซ็นต์ที่เข้ามายังเว็บไซต์หน้าแรกแล้วกดออกไป
  • Users Acquisition: จำนวนคนดาวน์โหลดแอปฯ หรือผู้ใช้ที่ลงทะเบียน

 

9. Unfair Advantage: สิ่งที่เราได้เปรียบกว่าคู่แข่ง

สำหรับ Lean Canvas ที่ออกแบบมาเพื่อ Startup ใหม่ อาจต้องลิสต์ไอเดียว่าเราจะทำอะไรที่คิดว่าคู่แข่งไม่สามารถทำได้ เช่น เทคโนโลยีเสถียรและแม่นยำกว่า ระบบการขนส่งรวดเร็วกว่า 2 เท่า หรือ UX/UI ดูดี ใช้งานง่าย เป็นต้น

 

ตัวอย่าง Lean Canvas

 

 

1. Google

2. YouTube

3. Amazon

4. Facebook

5. Airbnb

ขอบคุณแหล่งข้อมูลและที่มาของรูปภาพจาก railsware

 

Summary

 

Lean Canvas ถือเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับ Startup ที่จะช่วยให้เราร่างโมเดลธุรกิจได้ใน 1 แผ่น ซึ่งมีข้อดี คือ รวดเร็ว กระชับ และอัปเดตง่าย จึงช่วยให้ผู้ฟังเห็นภาพและความเป็นไปได้ของธุรกิจเพียงแค่ไม่กี่นาที ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนคุณก็จะสามารถเล่าแผนธุรกิจของคุณได้ ถึงแม้ Lean Canvas จะกระชับฉับไว แต่ศิลปะการเล่าเรื่องก็ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยตัดสินว่า “ธุรกิจของคุณน่าสนใจหรือไม่”

ทดลองใช้เทมเพลตออกแบบ Lean Canvas ของคุณได้ที่ infolio.co

อ้างอิง:

Customer Loyalty สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในการทำธุรกิจ

Posted on by admin_beacon_2024

หลายแบรนด์โฟกัสการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ แต่ลืมไปว่าการรักษาลูกค้าเก่าให้อยู่กับเรานาน ๆ หรือที่เรียกกันว่าการสร้าง “Customer Loyalty” คือสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ

โดยผลสำรวจของ Harvard Business School พบว่า การรักษาลูกค้าเก่าเพิ่มขึ้นเพียง 5% สามารถเพิ่มผลกำไรทางธุรกิจได้ถึง 25-95% เลยทีเดียว นอกจากนี้ Gartner Group ยังกล่าวอีกว่า 80% ของกำไรในอนาคตนั้นจะมาจาก 20% ของลูกค้าปัจจุบันอีกด้วย

เห็นแบบนี้แล้ว มาทำความรู้จักกันดีกว่าว่า Customer Loyalty คืออะไร มีกี่ประเภท และสำคัญอย่างไรต่อการทำธุรกิจ พร้อมวิธีสร้าง Customer Loyalty ให้ลูกค้าจงรักภักดีต่อแบรนด์ตลอดไป

Customer Loyalty คืออะไร

Customer Loyalty คือ ความจงรักภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ โดยแสดงให้เห็นผ่านการซื้อซ้ำและการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ซึ่งเกิดขึ้นจากความพึงพอใจต่อสินค้าและบริการที่ลูกค้าได้รับก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นหรือไว้ใจแบรนด์ ตลอดจนแนะนำให้ผู้อื่นมาซื้อหรือใช้บริการด้วย

 

Customer Loyalty มีกี่ประเภท

การแบ่งประเภทของ Customer Loyalty จะทำให้เราทราบว่าควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องทำให้ลูกค้าหันมาจงรักภักดีต่อแบรนด์ ซึ่งทาง SOOCIAL ได้แบ่งประเภทของ Customer Loyalty เอาไว้ ดังนี้

 

1. Hard-Core Brand Loyalty: รักเดียวใจเดียว

กลุ่มนี้จะอินกับแบรนด์มากเป็นพิเศษและมีทัศนคติแง่บวกกับแบรนด์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม โดยทั่วไปแล้วแบรนด์ที่มี Customer Loyalty ประเภทนี้จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่ทำให้ลูกค้าไม่สามารถเปลี่ยนใจไปซื้อแบรนด์อื่นได้ เช่น นวัตกรรมดี คุณภาพสินค้ายอดเยี่ยม การบริการที่น่าประทับใจ เป็นต้น

ตัวอย่าง ลูกค้าที่หลงใหลแบรนด์ Apple ก็จะใช้แบรนด์นี้ตลอดไป เมื่อมีสินค้าใหม่ออกมาก็มักจะซื้อตาม เรียกได้ว่ามีแทบทุกอย่างที่เป็นของ Apple

ข้อดีของ Hard-Core Brand Loyalty

  • โอกาสน้อยที่จะเปลี่ยนแบรนด์เมื่อเจอปัญหาเล็ก ๆ
  • ให้ Feedback อย่างตรงไปตรงมาและมักเป็นไปในทางที่ดี
  • เป็นกลุ่มที่บอกต่อแบบ “ปากต่อปาก” ได้ดีที่สุด

 

2. Split Loyal Customers: ชอบมากกว่าหนึ่ง แต่มีเพียง 2-3 แบรนด์ที่อยู่ในใจ

กลุ่มนี้มักชอบมากกว่าหนึ่งแบรนด์ แต่จะจำกัดตัวเลือกเอาไว้เพียง 2-3 แบรนด์เท่านั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นจะมีแบรนด์ที่ชอบมากที่สุด

ตัวอย่าง ลูกค้าประทับใจสายการบิน A มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ได้รับประสบการณ์ที่ดีจากสายการบิน B และ C เช่นกัน ดังนั้น จึงเลือกเดินทางด้วยสายการบินไหนก็ได้

ข้อดีของ Split Loyal Customers

  • เปลี่ยนเป็น Hard-Core Brand Loyalty ได้ง่าย แต่ต้องสร้างความประทับใจที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น

 

3. Shifting Loyal Customers: ขาประจำแบรนด์ A แต่เปลี่ยนใจไปรัก B

สำหรับกลุ่มนี้จะเป็นทั้ง Hard-Core Brand Loyalty และ Split Loyal Customers ในคนเดียวกัน

ตัวอย่าง ลูกค้าคนหนึ่งเป็นขาประจำของร้านกาแฟ A แต่วันหนึ่งลองเปลี่ยนไปซื้อร้าน B หลังจากนั้น ก็จงรักภักดีกับแบรนด์ B ด้วย ดังนั้น กลุ่มนี้จึงมีโอกาสเปลี่ยนแบรนด์ไปอีกเรื่อย ๆ

 

4. Switching Customers: ไม่ยึดติดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง

สำหรับกลุ่มนี้มักเปลี่ยนแบรนด์บ่อยเพราะต้องการประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะไหลไปตามรีวิวของเหล่า Influencers ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้กลุ่มนี้หันมาจงรักภักดีต่อแบรนด์ได้ คือ การทำให้พวกเขารู้สึกพึงพอใจมากที่สุด ยิ่งโดดเด่นมากเท่าไร การเกิด Customer Loyalty ก็ยิ่งสูงมากเท่านั้น

 

5. Need-Based Loyal Customers: ไม่มีแบรนด์ในใจ ถ้าแนะนำให้ก็ซื้อ

การที่กลุ่มนี้จะเลือกแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการโดยเฉพาะ หากมีใครแนะนำสินค้าที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันหรือดีกว่า ก็มีโอกาสสูงที่พวกเขาจะซื้อตามคำแนะนำนั้น อย่างไรแล้ว เราสามารถทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้จงรักภักดีต่อแบรนด์ได้ด้วยการนำเสนอสิ่งที่เหนือกว่าคู่แข่งและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พวกเขาประทับใจ

ทำไมการสร้าง Customer Loyalty ถึงสำคัญ

 

1. การตัดสินใจซื้อสูงกว่าลูกค้าใหม่

จากหนังสือ Marketing Metrics โดย Paul Farris ได้กล่าวว่า “ลูกค้าเก่าที่ซื้อซ้ำมี Conversion Rate สูงถึง 60-70% ในขณะที่ลูกค้าใหม่อยู่ที่ 5-20%”

นอกจากนี้ Adobe ยังได้ศึกษา Conversion Rate ของลูกค้าที่ซื้อซ้ำพบว่า “ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ถึงสองครั้งมีแนวโน้มที่ Conversion Rate จะสูงกว่าลูกค้าที่ซื้อครั้งแรกถึง 9 เท่าเลยทีเดียว”

 

2. มักจ่ายมากกว่าลูกค้าใหม่

เนื่องจากลูกค้าเชื่อมั่นในธุรกิจและผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว แนวโน้มที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้ามากกว่าลูกค้าใหม่จึงสูงกว่า แถมยังมีโอกาสจ่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ หากผูกพันกับแบรนด์เป็นเวลานาน

 

3. การซื้อซ้ำเกิดขึ้นบ่อย

เมื่อลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีต่อแบรนด์แล้ว การซื้อซ้ำย่อมเกิดขึ้นแน่นอน แถมยังซื้อบ่อยอีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป เช่น สบู่ ยาสีฟัน สกินแคร์ และของใช้ในบ้านต่าง ๆ เป็นต้น ยิ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวด้วยแล้ว ลูกค้าจะยิ่งชอปมากกว่าปกติ จึงเป็นแนวทางให้แบรนด์ออกโปรโมชันในช่วงนี้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อของเพิ่ม

 

4. ค่าใช้จ่ายในการรักษาลูกค้าเก่าถูกกว่าการหาลูกค้าใหม่

การหาลูกค้าใหม่เป็นสิ่งสำคัญ แต่รู้หรือไม่? ค่าใช้จ่ายนั้นแพงกว่าการรักษาลูกค้าเก่าถึง 5 เท่า ซึ่งชี้ให้เห็นแล้วว่าการรักษาลูกค้าเก่านั้นมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก หากสามารถทำให้ลูกค้าเป็น Hard-Core Brand Loyalty ได้ การบอกต่อยิ่งเกิดขึ้นง่ายด้วย โดยที่แบรนด์แทบไม่ต้องเสียเวลาและเงินโปรโมตเลย

 

5. ช่วยวางแผนการตลาดล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อมี Customer Loyalty การวางแผนการตลาดและการตัดสินใจเรื่องงบประมาณจะทำได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากรู้แนวทางแล้วว่าควรปฏิบัติกับลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างไร ซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งเงิน แรง และเวลาได้

วิธีสร้าง Customer Loyalty ให้ลูกค้าจงรักภักดีตลอดไป

 

1. ทำความรู้จักลูกค้าของคุณ

พื้นฐานสำคัญของการสร้าง Customer Loyalty คือ คุณต้องรู้จักและทำความเข้าใจลูกค้าก่อน ไม่ว่าจะเป็นชื่อ วันเกิด อีเมล รวมไปถึงนิสัยการซื้อ เมื่อเรารู้ว่าเป็นอย่างไร การปฏิบัติต่อลูกค้าแต่ละคนก็จะถูกต้องและตรงใจพวกเขามากขึ้น สมมติวันนี้เป็นวันเกิดของลูกค้า คุณสามารถส่งข้อความอวยพรไปพร้อมกับของขวัญหรือดีลพิเศษให้กับพวกเขาได้เพื่อให้เห็นว่าเราใส่ใจลูกค้าทุกคนด้วยใจจริง

 

2. ให้ความสำคัญกับจุดแข็งของธุรกิจ

เมื่อทำความรู้จักลูกค้าแล้ว อย่าลืมแนะนำลูกค้าให้รู้จักเราด้วย นั่นก็คือการบอกว่า “เราเป็นใครและทำอะไร” อีกอย่างต้องไม่ลืมบอกจุดแข็งของธุรกิจ “เราดีที่สุดในด้านไหน” หรือ “เราให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด” อย่างไรก็ตาม ควรเน้นย้ำสิ่งนี้อยู่เสมอเพื่อให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้และทราบว่าเราแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร

 

3. สร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้าบนโซเชียลมีเดีย

โซเชียลมีเดียเป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้า ลองนึกภาพว่าถ้าแบรนด์ไม่มีสื่อโชเชียล คุณจะสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้ลูกค้าคิดว่าแบรนด์ไม่มีตัวตนอีกด้วย ดังนั้น ควรใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับแฟนเพจและอัปเดตข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ อย่าลืม! ใส่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นกันเองลงไปด้วยเพื่อให้รู้สึกเข้าถึงง่าย แบบนี้จะช่วยสร้าง Customer Loyalty ได้ง่ายขึ้น

 

4. มอบของขวัญให้ลูกค้าปัจจุบัน

แน่นอนว่าการสร้าง Customer Loyalty จะลืมการมอบของขวัญให้ลูกค้าไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดพิเศษ ของขวัญตามระดับขั้นสมาชิก Care Box ประจำปี หรืออื่น ๆ เป็นต้น การทำแบบนี้จะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีต่อแบรนด์มากขึ้นและยังมีโอกาสที่จะซื้อสินค้าหรือบริการของเราต่อไปเรื่อย ๆ อีกด้วย

 

5. ใช้กลยุทธ์ Referral Marketing

Referral Marketing หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “การตลาดปากต่อปาก” สามารถสร้าง Customer Loyalty ได้เช่นกัน วิธีการ คือ ให้รางวัลกับลูกค้าที่มีส่วนร่วมในการทำธุรกิจ เช่น หากแนะนำเพื่อนหรือคนรู้จักให้มาใช้บริการจะได้รับส่วนลด 100 บาท เป็นต้น ยิ่งบอกต่อได้มากเท่าไร ยิ่งได้รางวัลมากเท่านั้น อย่างไรแล้ว ลูกค้าจะต้องเชื่อมั่นในสินค้าหรือบริการก่อนถึงจะแนะนำผู้อื่นได้ เพราะผู้คนส่วนใหญ่มักสัมผัสได้ถึงความจริงใจของผู้พูด

 

6. ขอ Feedback จากลูกค้า

นี่คือกุญแจสำคัญของการสร้าง Customer Loyalty เพราะถ้าไม่มี Feedback จากลูกค้าก็ไม่มีทางรู้ว่าจะปรับปรุงสินค้าบริการให้ดีขึ้นได้อย่างไรเพื่อให้ลูกค้าอยู่กับเราไปนาน ๆ ทั้งนี้ การขอ Feedback สามารถทำได้โดยสอบถามผ่านทางโทรศัพท์ ตอบแบบสำรวจ หรือรวบรวมจากคอมเมนต์บนโซเชียล เป็นต้น หากทำให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วย

 

Summary

 

การสร้าง Customer Loyalty มีความสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะยิ่งลูกค้าจงรักภักดีต่อแบรนด์มากเท่าไร การสร้างกำไรในระยะยาวก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และถึงแม้เราจะรู้ว่าการสร้าง Customer Loyalty มีหลากหลายวิธี แต่สิ่งที่ควรมาก่อนคือ “คุณภาพ” เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้ แบรนด์อาจจะไม่มีลูกค้าที่จงรักภักดีเลย มีเพียงคนที่เข้ามาซื้อแล้วก็จากไป ส่งผลให้แบรนด์ต้องหาลูกค้าใหม่อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดสูงกว่าการรักษาลูกค้าเก่าหลายเท่า เพราะฉะนั้น พยายามทำให้ประสบการณ์การซื้อสินค้าหรือบริการของคุณเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำสำหรับลูกค้าดีกว่า

อ้างอิง: