หลายคนอาจไม่รู้จัก API ว่าคืออะไร ถ้าให้ใกล้ตัวที่สุดคงจะเป็นแอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรีที่มักดึงแผนที่จาก Google Map มาอยู่ในแอปฯ ของตัวเองโดยไม่ต้องสร้างแผนที่ขึ้นมาใหม่
แต่นี่เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการใช้ API เท่านั้น ยังมีอีกหลายรูปแบบที่เราไม่รู้มาก่อนอีกด้วย ซึ่งพูดได้เต็มปากเลยว่า เกือบทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราล้วนใช้ API ทั้งสิ้น แต่ก่อนที่จะไปดู เรามาทำความรู้จัก API เบื้องต้นกันก่อนว่าคืออะไร ทำไมนักการตลาดออนไลน์ถึงควรให้ความสำคัญ ถ้าพร้อมแล้ว! ตามมาเลย
API คืออะไร
API (Application Programming Interface) คือ ตัวกลางที่เชื่อมต่อระหว่าง “ผู้ใช้บริการ” กับ “ผู้ให้บริการ” โดยทั้งสองต่างเป็นโปรแกรมด้วยกันทั้งคู่ เมื่อผู้ใช้บริการต้องการข้อมูลบางอย่าง API จะทำหน้าที่ส่งต่อคำขอไปยังผู้ให้บริการและส่งข้อมูลกลับมาที่ผู้ใช้บริการโดยอัตโนมัติ แต่มีข้อแม้ว่าผู้ให้บริการจะต้องยินยอมเปิดข้อมูลนั้นเพื่อให้นำไปใช้ได้
หากอ้างอิงจากตัวอย่างที่กล่าวไปตอนต้น แอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรี = ผู้ใช้บริการ, Google Map = ผู้ให้บริการนั่นเอง
สำหรับคนที่ยังไม่เห็นภาพมากนัก เราลองมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมติผู้ใช้บริการเปรียบเสมือนลูกค้าที่มาทานอาหารในโรงแรม เมื่อลูกค้าอยากทานเมนู A บริกรจะต้องรับคำสั่งและไปบอกให้ครัวจัดเตรียมอาหารและมาส่งให้กับลูกค้า ซึ่งบริกรก็คือ API ส่วนข้อมูลก็คืออาหารในห้องครัวนั่นเอง
ชนิดของ API
- Private API: นิยมใช้กันภายในองค์กร คนนอกไม่สามารถใช้ได้
- Partner API: ใช้ได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
- Public API: ทุกคนสามารถใช้ได้
ทำไม API ถึงสำคัญในการทำการตลาดออนไลน์
1. เพิ่มความคล่องตัวให้กับการทำงานของแบรนด์
API ช่วยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้กับแอปฯ หรือเว็บไซต์ของแบรนด์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งแบรนด์ไม่ต้องทำเองทั้งหมด แต่ให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ จัดการให้เรา เช่น เราขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ต้องมีการบวกภาษี เราอาจจะใช้ API ที่เป็นระบบคำนวณภาษีอัตโนมัติเข้ามาช่วย ซึ่งไม่ต้องคอยอัปเดตเองตลอดเวลาเมื่ออัตราภาษีมีการเปลี่ยนแปลง
2. เข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย
หนึ่งเหตุผลที่ทำให้ API สำคัญในการทำการตลาดออนไลน์ คือ API ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้เวลานาน สมมติลูกค้าจะขอ Statement บนแอปฯ ของธนาคารแห่งหนึ่ง API ก็จะทำหน้าที่ส่งคำขอและรับข้อมูลกลับมาส่งให้ลูกค้าทางอีเมลได้ทันที
3. สร้างความโดดเด่นให้เหนือกว่าคู่แข่ง
ไม่แปลกใจที่การใช้ API จะช่วยให้แบรนด์ดูโดดเด่น เพราะสิ่งนี้ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ปลายทาง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ชอบความสะดวกสบาย รวดเร็วทันใจ และแตกต่างจากผู้อื่น
หากลองสังเกตเราจะเห็นว่า ในไทยนิยมดู Netflix กันมากเพราะคอนเทนต์หลากหลาย แถมดูได้หลายอุปกรณ์ทั้ง Smart TV, Apple TV, Laptop, Tablet, Smartphone หรือแม้แต่ PS4-PS5 ซึ่งจริง ๆ แล้ว Netflix ไม่ได้พัฒนาซอฟแวร์เองเพื่อให้เล่นได้ทุกอุปกรณ์ แต่แค่เปิด API ให้นักพัฒนาซอฟแวร์เข้าถึงระบบของเขาได้นั่นเอง ทำให้ปัจจุบันมีอุปกรณ์มากกว่า 800 ชนิดที่สามารถเล่น Netflix ได้
4. ช่วยเพิ่มยอดขาย
ไม่ว่าจะทำธุรกิจประเภทไหน คุณสามารถเลือกใช้ API ที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณได้ เมื่อผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้ API ยอดขายก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ตัวอย่างการใช้งาน API ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง
Social Media API
โดยปกติโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มมีการใช้ API ทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง
-
- Facebook API เช่น การดึง Facebook Insight หรือ Automate Ad Management ที่สามารถสร้างเทมเพลตโฆษณาได้หลายอันพร้อมกันเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของโฆษณา
- Instagram API เช่น Discovering @mentions ที่รวบรวมบัญชีที่กล่าวถึงแบรนด์เพื่อเก็บข้อมูลหรือตอบกลับคอมเมนต์
- Youtube API เช่น การเปลี่ยนชื่อคลิปวิดีโอให้ตรงตามยอดวิวแบบเรียลไทม์ (เล่าเรื่องผี 1,000,000 วิว เมื่อเวลาผ่านไปมียอดถึง 2,000,000 วิว ชื่อคลิปก็จะเปลี่ยนให้อัตโนมัติ)
Google Ads API
Google Ads API เป็นตัวช่วยที่ให้ผู้ลงโฆษณาจัดการบัญชีและแคมเปญ Google Ads ขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่ามีประโยชน์ต่อกลุ่มเอเจนซีโฆษณา บริษัทที่ทำ SEM หรือแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่ต้องจัดการกับแอคเคานต์จำนวนมาก
โดยหลัก ๆ เราสามารถใช้ Google Ads API ดึงรีพอร์ตแบบกำหนดเองได้ (Custom Reporting), จัดการโฆษณาตามแต่ละพื้นที่ (Ad Management Based on Inventory) หรือวางกลยุทธ์การประมูล (Manage Smart Bidding Strategies) เป็นต้น
PayPal API
เมื่อเราซื้อสินค้าที่แอปฯ หนึ่งแล้วเลือกชำระเงินผ่าน PayPal แอปฯ จะส่งคำสั่งซื้อไปที่ PayPal API โดยระบุจำนวนเงินที่ต้องชำระพร้อมกับรายละเอียดที่สำคัญอื่น ๆ จากนั้นจะตรวจสอบสิทธิ์ผู้ใช้และยืนยันการซื้อ หากไม่มีปัญหาอะไร API จะส่งการยืนยันการชำระเงินกลับมาที่แอปฯ เพื่อบอกว่าการชำระเงินเสร็จสิ้นแล้ว
Login API
นี่น่าจะเป็น API หนึ่งที่เราคุ้นเคยกัน เคยไหมเวลาจะลงทะเบียนบนแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์มักจะมีปุ่ม “Login with Facebook” หรือ “Sign in with Google” ให้เราเลือกโดยที่ไม่ต้องกรอกอีเมลและรหัสผ่านใหม่ ซึ่งแอปฯ หรือเว็บไซต์จะเรียก API มาตรวจสอบว่าเราล็อกอิน Facebook หรือ Google ไว้แล้วหรือยัง ถ้า Login แล้ว เราก็สามารถลงชื่อเข้าใช้ผ่านปุ่ม “Login with Facebook” หรือ “Sign in with Google” ได้เลย
Financial Apps
ทุกธนาคารมีการใช้ API ภายในเพื่อจัดการการเงินของผู้ใช้บริการซึ่งมีการเชื่อม API ไปแต่ละแผนก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบัญชีออมทรัพย์ ข้อมูลบัตรเครดิต หรืออื่น ๆ นอกจากนี้ บางธนาคารยังมีการเปิด API ของตัวเองให้แอปฯ ของนักพัฒนาภายนอกสามารถเชื่อมกับแอปฯ ธนาคารเพื่อชำระเงินได้อีกด้วย
อย่าง Katalyst ก็ได้เปิด API ของตัวเองเช่นกัน นั่นก็คือ บริการ QR Payment ที่ให้ Partner ส่งข้อมูลมายัง API แล้วแปลงข้อมูลเป็น QR Code ทันทีเพื่อให้ลูกค้าสแกนชำระเงินได้สะดวก
Weather Apps
หากเราเคยเช็กสภาพอากาศผ่าน Google หรือ Siri รู้ไว้เลยว่าพวกเขาไม่ได้เป็นผู้รวบรวมสภาพอากาศด้วยตนเอง แต่เป็นการใช้ API ส่งคำขอเพื่อดึงข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยานั่นเอง
Summary
อ่านบทความนี้แล้ว หลายคนคงได้เห็นตัวอย่างการใช้ API กันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดึงแผนที่จาก Google Map มาใส่ไว้ในแอปฯ หรือเว็บไซต์ของตัวเอง การดึง Insight จากโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือการลงชื่อเข้าใช้โดยล็อกอินผ่าน Facebook, Google, เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น
หากลองสังเกตเราจะเห็นว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับการทำการตลาดออนไลน์ นอกจาก API จะเพิ่มความคล่องตัวให้กับการทำงานของแบรนด์และเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายแล้ว ยังสามารถสร้างความโดดเด่นให้กับแบรนด์ได้อีกด้วย แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือยอดขายนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การใช้ API ยังมีอีกมากมาย ซึ่งนักการตลาดอย่างเราต้องไปค้นหาและนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับกับธุรกิจ ถึงวันนั้น เราอาจกลายเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จเร็วขึ้นก็เป็นได้
อ้างอิง: