สตาร์ทอัพแบบไหน ที่เข้าตานักลงทุนรายใหญ่อย่าง Beacon VC

August 1, 2019

SHARE

ช่วงปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับ Startup ในประเทศไทยที่มีสถิติการเติบโต เป็นไปในเชิงบวก รวมทั้งโอกาสในการระดมทุนก็ดูเหมือนจะเปิดประตูกว้างขึ้น จากรายงานของ NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) เดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า มีเงินทุนจาก CVC ( นักลงทุนที่สนับสนุนโดยองค์กร) มูลค่าถึง 35,000 ล้าน จากภาครัฐ 60,000 ล้าน และ VC ทั้งในและต่างประเทศ 20,000 ล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า Tech Startup ทุกรายจะคว้าโอกาสนั้นไว้ได้

วันนี้ KATALYST จึงขอพา Tech Startup ทุกท่าน ไปพูดคุยกับ คุณธนพงษ์ ณ ระนอง หัวเรือใหญ่แห่ง Beacon Venture Capital
 ผู้ร่วมดูแลโครงการ KATALYST ที่จะมาร่วมแชร์มุมมอง สร้างความเข้าใจ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีสร้างแรงดึงดูดให้นักลงทุนสนใจ เพื่อให้ Tech Startup สามารถขยายธุรกิจและเติบโตในระยะยาวได้ตามที่ฝันไว้

Q : Beacon VC มีนโยบายหลักในการลงทุนเป็นอย่างไร
คุณธนพงษ์ : Beacon VC เป็น CVC (Corporate Venture Capital) คือได้รับเงินลงทุนจากองค์กร ให้นำเงินไปลงทุนในบริษัทอื่นอีกที ในที่นี้คือ ธนาคารกสิกร ซึ่งกำหนดนโยบายชัดเจนว่า Beacon VC ไม่ได้เน้นผลกำไรเป็นหลักครับ แต่ต้องการให้เกิดเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่ช่วยให้การทำงานของธนาคารมีประสิทธิภาพดีขึ้น อีกด้านคือตอบโจทย์ลูกค้าของธนาคาร ถ้า Startup รายไหนสามารถตอบโจทย์ได้ เราก็จะวิ่งเข้าไปหาเขา ไม่ใช่แค่เขาวิ่งมาหาเราฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม การลงทุนส่วนใหญ่จะไม่มีการกำหนดสัดส่วนตายตัว แต่จะคำนึงถึงการลงทุนที่ Impact ในวงกว้าง ไม่ใช่แค่จำนวนเม็ดเงิน แต่จะมองถึงจำนวนผู้ใช้หรือลูกค้า ดังนั้นเราจึงเน้นการลงทุนที่มีตลาดในกลุ่ม Mass หรือผู้ใช้งานทั่วไป และกลุ่ม SME ที่มีฐานค่อนข้างใหญ่เป็นหลัก

Q : ส่วนใหญ่จะเห็นว่า Beacon VC โฟกัสการลงทุนใน Tech Startup ระดับ Series A เป็นต้นไป ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
คุณธนพงษ์ : เพราะ Series A คือคนที่มีของแล้วครับ ต้องเข้าใจก่อนว่า Beacon เป็นส่วนของการลงทุนเพื่อหาบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริง เราจึงหลีกเลี่ยงการลงทุนที่อยู่ในช่วงไอเดียหรือยังไม่มีของเลย ส่วน Series B ขึ้นไปในประเทศไทยยังมีน้อย แต่ถ้า Series A เริ่มหาไม่ค่อยได้ ก็มีบ้างที่เราจะลงมามองหาในระดับ Pre-series A ที่ต้องลงแรงมากขึ้น

อย่าง FlowAccount ซึ่งเป็น Startup ที่ทำระบบบัญชีออนไลน์ (Accounting Online) และอยู่ในโครงการ KATALYST เขาไม่ได้มีแค่ไอเดีย แต่มีโปรดักต์ที่ชัดเจน สิ่งที่เราช่วยได้นอกจากเงินลงทุน คือ ทำยังไงให้เขาเติบโต พาเขาไปพบกับกลุ่มลูกค้า SME ของเรา

เรามองว่าระบบบัญชีออนไลน์เป็นการสร้าง Value Add ให้แก่ลูกค้ากลุ่ม SME เพราะเขาจะได้รับสะดวกสบายมากขึ้น สามารถเชื่อมต่อบัญชีกับระบบได้ สามารถสรุปยอดจากบัญชีมาให้เลย ว่าตอนนี้มีเงินเท่าไหร่ เวลาจ่ายเงินเดือนก็แค่กดปุ่ม จะมีเงินเดือนเข้าอัตโนมัติ ไม่ต้องไปลงทุนซื้อระบบ HR แพงๆ เป็นฟังก์ชันง่ายๆ และค่าใช่จ่ายถูกกว่ามาก ตอนนี้ก็กำลังคุยจะทำระบบเพิ่มเติมร่วมกันอยู่ คิดว่าภายในปีนี้น่าจะได้เห็นกันครับ

Q : ถ้าอยากเข้าถึงนักลงทุน Startup ต้องมีอะไรบ้าง
คุณธนพงษ์ : ผมว่าการเข้าถึงนักลงทุนนั้นไม่ยาก แต่การเข้ามาคุยแล้วให้ได้รับการลงทุนต่างหากที่ยาก ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน ว่าธุรกิจของคุณตอบโจทย์ของนักลงทุนแค่ไหน ต้องรู้จักเลือกนักลงทุนให้เหมาะสม ต้องสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนว่า Startup ของคุณคุ้มค่า หรือแม้แต่การตั้งมูลค่าธุรกิจที่ไม่สูงจนเกินจริง นักลงทุนอาจจะมองว่าดีจริงแต่ราคาสูงเกินมูลค่า ถ้าลงทุนไป เขาอาจจะไปต่อไม่ได้ ไปขายต่อแพงกว่านี้ก็ไม่ไหว นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนหลายคนบอกว่าไทยราคาสูงกว่าพื้นฐาน ทั้งที่จริงในเมืองไทยมีนักลงทุนเยอะมากและแย่งกันลงทุนอยู่แล้วนะ ถ้าคุณภาพของ Startup ดีพอและตอบโจทย์ของนักลงทุนรายนั้น ผมว่าหาเงินทุนได้ไม่ยากเลย

Q : การเลือกนักลงทุนให้เหมาะสม ต้องเลือกอย่างไร
คุณธนพงษ์ : ก่อนเลือกนักลงทุน ลองสำรวจก่อนว่า Startup ของคุณอยู่ Stage ไหน แล้วคุยกับนักลงทุนที่อยู่ใน Stage นั้น เช่น ถ้าคุณยังอยู่แค่ในระดับไอเดีย คุณต้องไปคุยกับนักลงทุนประเภท Angel ถ้าคุณมีแค่ MVP Product (Minimal Viable Product หรือ ผลิตภัณฑ์ตั้งต้น) อาจจะคุยกับพวก Seed Investor หรือถ้ามี Product ชัดเจนแล้ว อาจจะเริ่มคุยกับนักลงทุนระดับ Series A อย่างที่ Beacon VC ทำ

แต่ถ้าคุณยังอยู่ในระดับต้นๆ แล้วข้ามขั้นไปคุยกับ VC ที่เป็นนักลงทุนต่างประเทศระดับ Series A เลย เขาก็ไม่มาลงทุนกับคุณนะ เพราะคุณสมบัติของ Product ยังไม่ถึง Stage ของเขา เขาจะลงเงินก็ต่อเมื่อ คุณมีของแล้วและต้องมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะการเติบโตในต่างประเทศ การเลือกเข้าหานักลงทุนที่เหมาะสมจะเพิ่มโอกาสที่เป็นไปได้ให้คุณมากกว่า

Q : แล้วในมุมของ Beacon VC เป็นอย่างไร
คุณธนพงษ์ : สำหรับ Beacon VC ที่ผ่านมา กลุ่มที่เราต้องการลงทุนมากที่สุดคือ FinTech เพื่อส่งเสริมธนาคารให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าค่อนข้างหายากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น อีกกลุ่มที่เรามองว่ามีศักยภาพและน่าสนใจในปัจจุบัน คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce เพราะกำลังเติบโตได้ดี เมื่อทำงานร่วมกับ Startup ก็ต้องดูว่า Solution ของเขาเป็นยังไง ตอบโจทย์ได้จริงไหม มีข้อบกพร่องตรงไหน จะเกิดจุดอ่อนในการทำธุรกิจตรงไหน ต้องดูให้ครบถ้วนทุกแง่มุม

จากนั้นก็ดูว่าศักยภาพของเขาสามารถตอบโจทย์ในตลาดได้ไหม แข่งกับคู่แข่งได้ไหม สามารถเติบโตและแข่งไปได้ตลอดหรือเปล่า คือเขาต้องมีอะไรพิเศษที่เราเรียกกันว่า Unfair Advantage คืออะไรที่เขาเหนือกว่าคนอื่น มีทีมงานที่มีประสบการณ์ทำงานได้จริงหรือเปล่า มี Business Acumen หรือความหลักแหลมเชิงธุรกิจ ที่จะคุยกับแบงก์รู้เรื่องไหม มีการทดสอบระบบหรือสินค้าว่าพร้อมใช้จริงไหม สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนมาก ซึ่งในโครงการ KATALYST เราก็จะร่วมกับทีม Digital Partnership ของกสิกรไทยในการพิจารณาและให้คำแนะนำ Startup ในแต่ละรายครับ

Q : คำแนะนำสำหรับ Startup ที่อยากเข้าร่วมโครงการของ KATALYST
คุณธนพงษ์ : สตาร์ทอัพที่อยากร่วมงานกับ KATALYST ควรพร้อมทำงานร่วมกับองค์กร สามารถใช้เวลาด้วยกัน ทำอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะแบบ B2B ที่ Startup บางคนอาจจะไม่ชิน เพราะติดวัฒนธรรมของสตาร์ทอัพที่ทำอะไรรวดเร็ว อาจจะขาดการจัดการด้านกระบวนการ การประยุกต์ความคิด หรือความยืดหยุ่นในเชิงธุรกิจ ถ้ามีความเข้าใจในส่วนนี้ด้วย จะทำให้การทำงานร่วมกันราบรื่นและเป็นไปได้อย่างแข็งแรงในระยะยาวครับ

SHARE