Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงแห่งโลกอนาคต ที่พัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยี ปรับแนวคิดในการพัฒนาเมืองจากการพัฒนาเชิงกายภาพ สู่การพัฒนาศักยภาพชีวิตของคนเมืองด้วยเทคโนโลยี
การพัฒนาเมืองสู่ Smart City นอกจากผู้คนที่ได้รับผลประโยชน์แล้ว ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ได้ประโยชน์ เช่น สิ่งแวดล้อม สภาพสังคม และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีปัจจัยเอื้อต่อการสร้างรายได้ในการพัฒนาครั้งนี้ แต่จะมีธุรกิจไหนได้ประโยชน์บ้างไปดูกัน
Smart City คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ
Smart City คือ เมืองที่ออกแบบและพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการจัดการเมือง ทั้งด้านกายภาพและในเชิงโครงสร้าง รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คน อีกทั้งยังช่วยลดการใช้งานทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ลดมลภาวะทำให้เมืองเติบโตอย่างยั่งยืน
สิ่งที่ทำให้ Smart City น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องมาจากแนวโน้มการพัฒนาเมืองใหญ่หรือมหานครระดับโลก เริ่มหันมาให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น ทั้ง San Francisco, New York และ London นอกจากนี้มูลค่าทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับ Smart City ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่ามีการเติบโตถึงปีละ 19% คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2019 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 3.48 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2026
ดังนั้นไม่เพียงแค่ประชาชนเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์จากความอัจฉริยะของเมือง แต่ภาคธุรกิจเองก็ได้รับโอกาสผ่านการทำธุรกิจเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมือง เช่นกัน ซึ่งทำให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับเมืองที่พัฒนาขึ้นนั่นเอง
หัวใจหลักของการพัฒนาเมืองสู่ Smart City
ดังที่กล่าวไปข้างต้น ธุรกิจที่จะเติบโตได้ในยุคที่เมืองธรรมดาเปลี่ยนเป็นเมืองอัจฉริยะ ต้องเป็นธุรกิจที่ตอบสนองต่อแบบแผนหรือหัวใจของการพัฒนาเมืองสู่ Smart City ซึ่งมีปัจจัยหลักดังนี้
- Healthcare ระบบของเมืองอัจริยะต้องเอื้อต่อสุขภาพของประชาชนภายในเมือง ทั้งในด้านบริการสาธารณสุข และการพัฒนาขีดจำกัดทางการแพทย์ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
- Security ความปลอดภัยในที่นี้ เริ่มตั้งแต่ความปลอดภัยในการดำรงชีวิต เช่น ความปลอดภัยบนท้องถนน ไปจนถึงความปลอดภัยทางด้านข้อมูลส่วนบุคคล
- Engagement เมืองที่อัจฉริยะประชาชนต้องสามารถเข้าถึงทรัพยากรและการใช้งานได้ด้วย และสามารถเชื่อมต่อวิถีชีวิตเข้ากับเทคโนโลยีภายในเมือง ให้เมืองเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึน
- Environment สิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เมืองเติบโตอย่างยั่งยืน เมืองอัจฉริยะต้องสามารถควบคุมการใช้พลังงานให้เหมาะสม ลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลื้องและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนเมือง
โอกาสในการเติบโตจาก Smart City
สำหรับโอกาสในการเติบโตจาก Smart City มีผู้ประกอบการหลายรายที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทั้งกลุ่มธุรกิจและ Tech Startup โดยได้รับโอกาสที่แตกต่างกันทั้งพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงและโครงสร้างเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ จากการคาดการณ์ผู้ที่ได้รับโอกาสในการเติบโตของ Smart City มีดังนี้
ธุรกิจด้านการแพทย์
สุขภาพเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง โดยธุรกิจทางการแพทย์ที่ได้รับผลประโยชน์จาก Smart City นั้นเป็นธุรกิจที่อำนวยความสะดวกในการรักษาผู้ป่วย จำพวก HealthTech ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่การวินิจฉัยตลอดจนการดูแลผู้ป่วย
ธุรกิจด้าน HealthTech มีหลายตัวอย่างที่น่าสนใจ และสอดรับกับการพัฒนาเมือง ทั้งในเรื่องการเข้าถึงระบบการรักษาที่สะดวกของผู้ป่วย และการรักษาที่ออกแบบเพื่อตอบสนองต่อผู้ป่วยในแต่ละรายมากขึ้น (Personalized Medicine) ยกตัวอย่างเช่น Ping An Good Doctor แอปพลิเคชันจากประเทศจีน ที่ช่วยให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ทางไกล และมีระบบจัดยาตามคำสั่งแพทย์พร้อมจัดส่งยาถึงที่พัก เป็นต้น
ตัวอย่างธุรกิจด้านการแพทย์: Babylon Health
Babylon Health เป็น HealthTech สัญชาติอังกฤษ ที่เปลี่ยนการพบแพทย์ให้สะดวกสบายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ด้วยการพัฒนาระบบ Healthcheck ด้วยเทคโนโลยี AI ที่วิเคราะห์ข้อมูลจาก Database ในระดับ Deep Learning ส่งผลให้บริการให้คำปรึกษากับผู้ป่วยด้วย AI นั้นแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยสามารถเข้าถึงบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านระบบ Chat Bot และสามารถติดตามสุขภาพประจำวัน (Health Tracker) เพื่อดูแลสุขภาพของผู้ป่วยให้ดีตลอดวัน
ด้วยเทคโนโลยีและบริการของ Babylon Health ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการรักษาเบื้องต้น และยังสามารถติดตามสุขภาพให้ผู้ใช้งาน Living Smart and Healthy โดยสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันว่า Bablylon Health นั้นมีโอกาสพัฒนาใน Smart City คือ แผนพัฒนา (Roadmap) Smart City ของเมืองลอนดอน ที่นายกเทศมนตรีอย่าง Sadiq Khan ให้การสนับสนุนในการพัฒนาเมืองให้อัจฉริยะ ด้วยพื้นฐานระบบ 5G สนับสนุนระบบนิเวศของเทคโนโลยี (Technology Ecosystem) และนวัตกรรม AI ซึ่ง Bablylon Health ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีโอกาสได้รับการสนับสนุนในแผนพัฒนานี้ด้วยเช่นกัน
ธุรกิจด้านพลังงานสะอาด
เมื่อเกิด Smart City พลังงานสะอาดกลายเป็นพลังงานหลักที่ขับเคลื่อนเมือง เพื่อลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมทำให้เมืองและผู้อยู่อาศัยใช้พื้นที่ได้นานยิ่งขึ้น โดยธุรกิจด้านพลังงานสะอาดที่ได้รับประโยชน์ มีตั้งแต่โรงไฟฟ้า ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า
โดยธุรกิจประเภทนี้จะสอดคล้องกับการพัฒนาโครงการของรัฐ ที่ริเริ่มการนำ Smart Grid หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจริยะ เชื่อมต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านเทคโนโลยี มาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้กระแสะไฟฟ้าของประชาชน และจ่ายให้พอดี เพื่อควบคุมการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสม
ตัวอย่างธุรกิจด้านพลังงานสะอาด: Iberdrola
Iberdrola เป็นธุรกิจพลังงานสะอาดจากประเทศสเปน ที่ดำเนินธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประหยัดพลังงานทั้งระบบควบคุมไฟท้องถนนไปจนถึง Smart Grid โดย Iberdrola ลงทุนมากกว่า 600 ล้านยูโร หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนา 40 เมืองในประเทศสเปนให้เป็น Smart City ร่วมกับภาครัฐ ผ่านการปรับระบบการจ่ายไฟแบบ Smart Grid
โดย Iberdrola แตกต่างจากธุรกิจไฟฟ้าประเภทอื่นคือ พวกเขาไม่รอเวลาให้ภาครัฐพัฒนาเมือง แต่เลือกที่จะทุ่มทุนเพื่อนำร่องในการพัฒนา เพื่อผลประโยชน์ในอนาคต ซึ่ง 40 เมืองที่บริษัทลงทุนพัฒนาระบบ Smart Grid ไปนั้น เป็นเมืองแถบชนบททั้งสิ้น หากมองในระยะยาว เมื่อเมืองเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนและพัฒนาจากรัฐแล้ว Iberdrola ก็จะกลายเป็นกำลังหลักในการควบคุมระบบจ่ายไฟของทั้ง 40 เมือง
Tech Startup
Smart City หลายแห่งของโลกพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีของภาคเอกชน Tech Startup หลายรายเข้ามามีบทบาทในด้านนี้ โดยเทคโนโลยีที่ถูกใช้งานในหลายเมือง เช่น แอปพลิเคชันหาที่จอดรถ หรือระบบ Smart Analytic ที่แก้ปัญหารถติด เป็นต้น
หากจะยกตัวอย่างธุรกิจด้าน Tech Startup ที่เข้ามามีบทบาทชัดเจนในการพัฒนาเมืองให้อัจฉริยะมากขึ้น ต้องเป็น JustPark แอปเคชันหาที่จอดรถจากประเทศอังกฤษ โดยทำงานร่วมกับระบบ Navigation อย่าง Google Maps และ Waze เพื่อค้นหาที่ว่างให้ผู้ใช้งาน นำเสนอผลแบบ Real-Time เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่จอดรถที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้ประชาชนได้ใช้งานที่จอดทุกคนโดยไม่ต้องเสียเวลาวนรถหาที่จอด
ตัวอย่าง Tech Startup: Liluna
Liluna เป็น Tech Startup จากเมืองไทย ที่ให้บริการแชร์ค่าเดินทางด้วยระบบ Ride Sharing ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหารถติด ประหยัดพลังงานและลดภาวะที่เกิดจากรถยนต์ โดยรูปแบบการให้บริการของ Liluna ตอบสนองต่อการพัฒนาเมืองไปสู่ Smart City ทั้งในด้านการเข้าถึงระบบคมนาคมที่สะดวกขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้อยู่อาศัย และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สำหรับ Smart City ในประเทศไทย ทาง Liluna เองก็ได้เข้าร่วมโครงการด้าน Smart City จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) และได้ลงนาม MOU ร่วมกับบริษัท Kan Koon ในการพัฒนาเมืองขอนแก่นเพื่อมุ่งไปสู่ Smart City จากทั้งสองโครงการ เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าในอนาคต Liluna จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเมืองสู่ Smart City อย่างแน่นอน
Summary
Smart City เป็นแนวทางการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต เมืองที่ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้อาศัยและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี ที่นำ Big Data มาปรับใช้สร้างเมือง และสำหรับภาคธุรกิจ Smart City ถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมเมือง ด้วยการหาช่องทางการดำเนินธุรกิจที่สามารถพัฒนาไปพร้อมกับเมืองได้ จะส่งผลให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน