Play to Earn คือรูปแบบเกมที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งแรงจูงใจของผู้เล่นอาจไม่ใช่เพื่อความสนุกหรือผ่อนคลายอย่างเดียว แต่คือเม็ดเงินที่ตามมาในรูปของ Cryptocurrency ที่อาจพลิกโฉมวงการเกมในระยะยาวได้เลยทีเดียว จากเดิมที่คนเคยมองว่าเกมเป็นงานอดิเรก แต่อีกไม่นาน Play to Earn อาจอันเป็นงานหลักที่สร้างรายได้ของใครหลาย ๆ คนก็ได้
ดูน่าสนใจใช่ไหมล่ะ งั้นมาทำความรู้จัก Play to Earn ให้มากขึ้นกันดีกว่าว่าคืออะไร แตกต่างจากเกมทั่วไปอย่างไร ได้เงินจากการทำอะไรบ้าง พร้อมตัวอย่างเกม Play to Earn ชื่อดัง และคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเล่นเกม Play to Earn
Play to Earn คืออะไร
Play to Earn คือ “เกมที่เล่นแล้วมีรายได้” บ้างก็เรียกว่าเกม NFT แต่รายได้นั้นจะไม่เหมือนกับเกมทั่วไปที่เป็นการสะสมเหรียญหรือเพชรไปแลกเป็นเงิน เนื่องจาก Play to Earn เป็นรูปแบบเกมที่มีระบบ Blockchain และ Cryptocurrency มาเกี่ยวข้อง โดยรายได้จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1. Non-Fungible-Token (NFT) หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ไอเทมหรือของสะสมของเราที่ได้มาจากการเล่นเกมแล้วนำไปซื้อขายใน NFT Marketplace
2. Fungible-Token หรือสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ อย่างใน Play to Earn ส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญที่อยู่ในบล็อกเชนของ Etherium และ Binance ซึ่งแต่ละเกมมักจะมีการสร้างเหรียญเกมของตัวเองขึ้นมา เช่น เหรียญ SAND จาก The Sandbox ที่สร้างบน Ethereum Blockchain มาตรฐาน ERC-20 ถ้าเล่นเกมชนะหรือทำภารกิจสำเร็จก็รับเหรียญนี้ไปเลย จะเอาไปซื้อไอเทมหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินก็ได้
รูปภาพจาก Sensorium
Play to Earn แตกต่างจากเกมทั่วไปอย่างไร
1. ผู้เล่นเป็นเจ้าของทรัพย์สินดิจิทัลทั้งหมด โดยสามารถนำไอเทมหรือของสะสมมาไปทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนในรูปแบบ NFT กับผู้เล่นคนอื่น ๆ รวมถึง Content Creators หรือแม้แต่ Game Developers เอง ต่างจากเกมทั่วไปบางเกมที่เราต้องซื้อไอเทมต่าง ๆ กับทาง Game Developers อย่างเดียว ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ประกอบการในเกม
2. สินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่าในโลกความจริง สามารถแลกเปลี่ยนมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเงินในเกมทั่วไปบางเกมจะไม่ใช่เงินจริง
3. มีความยุติธรรมในการเล่น เพราะเกมที่ใช้บล็อกเชนนั้นจะมีความโปร่งใสมากกว่าเกมประเภทอื่น ๆ พอสมควร ผู้เล่นทุกคนมีสิทธิในการตัดสินใจในเกมอย่างเท่าเทียมกัน ต่างจากเกมทั่วไปบางเกมที่การชนะหรือแพ้จะขึ้นอยู่กับการกำหนดของ Game Developers ของแพลตฟอร์มนั้น ๆ
นอกจากนี้ บางเกมยังสามารถนำ Token มาใช้ในการกำกับดูแลได้อีกด้วย เช่น โหวตลงคะแนนเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายหรือพัฒนาเกมให้ดีขึ้น
เราจะหารายได้จากการเล่น Play to Earn ได้อย่างไร
1. การแข่งขันหรือมีส่วนร่วมในภารกิจ
เมื่อเล่นเกม Play to Earn ผู้เล่นสามารถสะสมทรัพย์สินในเกมได้ผ่านการแข่งขัน การดวล หรือการทำภารกิจต่าง ๆ ที่มีรางวัลให้ และถ้ายิ่งพัฒนาตัวละครให้ดีขึ้นมากเท่าไร โอกาสที่จะเล่นแล้วชนะก็ยิ่งสูงขึ้น
2. การขายสินทรัพย์ในรูปแบบ NFT
ไม่ว่าจะขายสกิน ที่ดินเสมือน หรือไอเทมต่าง ๆ ที่ได้มาจากการเล่นเกมหรือซื้อมา ยิ่งเป็นของหายาก ยิ่งมีมูลค่ามาก ซึ่งผู้เล่นสามารถนำไปซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนผ่าน NFT Marketplace ได้
3. การลงทุน
เกมไหนยิ่งได้รับความนิยม มูลค่าของทรัพย์สินในเกมก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ดึงดูดให้คนจำนวนมากเข้ามาลงทุนกับทรัพย์สินใน Play to Earn มีการก่อตั้งกิลด์หรือกลุ่มช่วยเหลือผู้เล่นขึ้นมา เพื่อให้ผู้เล่นที่ไม่มีเงินซื้อตัวละครหรือไอเทมเจ๋ง ๆ สามารถยืมไปเล่นก่อน หรือจะเปิดให้คนอื่นเอาเงินมาลงทุนให้เราเล่น เมื่อได้กำไรแล้วค่อยเอามาแบ่งกัน
ตัวอย่างเกม Play to Earn ชื่อดัง
1. Axie Infinity
Axie Infinity ถือเป็น Play to Earn ที่ได้รับความนิยมสูงมาก รูปแบบเกมจะมีทั้งการผ่านด่านผจญภัยและการนำมอนสเตอร์มาต่อสู้กันเพื่อให้เลเวลอัป โดยมีสิ่งที่จูงใจผู้เล่น คือ สกุลเงินในเกมที่เรียกว่า Small Love Potion (SLP) และ Axie Infinity Shard (AXS) ที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินดิจิทัล Binance และ Etherium ได้ ทั้งนี้ Axie แต่ละตัวจะเป็น NFT ได้นั้น ขึ้นอยู่กับเลเวลและความสามารถในการต่อสู้ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละเผ่าพันธุ์นั่นเอง
สามารถเล่นได้ที่ Axie Infinity
2. The Sandbox
The Sandbox เป็น Play to Earn แบบ Virtual Metaverse หลังจาก Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนราคาเหรียญ SAND ที่เป็นสกุลเงินของแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนรูปแบบเกมนั้นค่อนข้างอิสระ เพราะสามารถเลือกได้ว่าอยากทำอะไรในโลกเสมือนแห่งนี้ จะเป็นเจ้าของที่ดิน นักสะสม ศิลปิน เล่นเกม หรือสร้างเกมของตัวเองก็ได้ หากใครต้องการซื้อที่ดินดิจิทัลหรืออสังหาริมทรัพย์ The Sandbox ถูกยกให้เป็นหนึ่งแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเลยล่ะ
สามารถเล่นได้ที่ The Sandbox
3. Mines of Dalarnia
Mines of Dalarnia เป็น Play to Earn แนวผจญภัย ใช้เหรียญ DAR เป็นสกุลเงินในเกม รูปแบบเกมจะเป็นขุดหาสิ่งของ อย่างแร่ธาตุ ของโบราณ หรือสิ่งประดิษฐ์ มีการต่อสู้กับมอนสเตอร์เพื่อชิงไอเทมหายาก ซึ่งสามารถนำไปขายเป็น NFT ได้ หากได้เป็นเจ้าของที่ดินก็สามารถปล่อยเช่าหรือซื้อขายได้เหมือนในชีวิตจริงเลย
สามารถเล่นได้ที่ Mines of Dalarnia
4. My Neighbor Alice
My Neighbor Alice เป็น Play to Earn ที่มาในแนวทำฟาร์ม รูปแบบการเล่นเกมจะมีทั้งการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ สร้างสิ่งก่อสร้าง ตกปลา เควสกับ NPC เพื่อรับเหรียญ Alice และยังทำกิจกรรมกับผู้เล่นคนอื่น ๆ ได้ด้วย นอกจากนี้ ผู้เล่นสามารถตกแต่งที่ดินและนำไปขายเป็น NFT หรือจะขายไอเทมที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก Alice ก็ได้
สามารถเล่นได้ที่ My Neighbor Alice
5. Mobox
Mobox เป็นแพลตฟอร์มที่ผสมผสานระหว่าง DeFi กับเกม NFT อยู่บน Binance Smart Chain โดยมีเหรียญ MBOX เป็นสกุลเงินของแพลตฟอร์ม ฟังก์ชันหลัก ๆ ของ Mobox ได้แก่ MOMO Farmer ที่ให้ผู้ใช้สัมผัสประสบการณ์ DeFi เช่น การให้ผู้ใช้ทำหน้าที่เป็น Liquidity Provider ให้กับแพลตฟอร์มและรับรางวัลเป็นเหรียญ MBOX ฟังก์ชันถัดไปคือ Game ที่เป็นการต่อสู้เพื่อแลกกับรางวัล, NFT Marketplace เอาไว้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และ Governance ไว้เพื่อโหวตข้อเสนอต่าง ๆ
สามารถเล่นได้ที่ Mobox
อยากเล่น Play to Earn ต้องทำยังไง
สำหรับคนที่อยากเล่นเกม Play to Earn สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ หาเกมที่เราสนใจก่อน โดยสามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ playtoearn.net แนะนำให้ดู Insight ของเกมนั้น ๆ ว่ามีผู้เล่นมากน้อยแค่ไหน จำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้นมาเท่าไร และควรอ่าน Whitepaper ก่อนเล่นเกมนั้นทุกครั้ง
อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญสำหรับคนที่จะเล่น Play to Earn เพื่อหารายได้ คือ ควรดูการเติบโตของเหรียญเกมนั้น ๆ ด้วย โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่ coinmarketcap.com
สิ่งที่ต้องมีก่อนเล่น Play to Earn
1. Account สำหรับแลกเปลี่ยน Cryptocurrency
2. Software Wallet หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล เอาไว้เก็บ Cryptocurrency
3. Hardware Wallet เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยที่สุด โดยรูปแบบจะคล้ายกับ USB แนะนำให้ใช้เพื่อป้องกันการถูกแฮ็กหรือโดนขโมยทรัพย์สิน
4. เงิน เนื่องจาก Play to Earn บางเกมไม่มี Free to Play จึงต้องใช้เงินซื้อตัวละครหรือไอเทมอื่น ๆ ก่อนเล่น อย่าง Axie Infinity เป็นต้น
Summary
Play to Earn คือเกมรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้เล่นสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง มาพร้อมกับความสนุกเพลิดเพลินที่อาจช่วยให้ผู้เล่นไม่ต้องเครียดมากนัก
ในอีกแง่หนึ่ง Play to Earn ก็เหมือนกับการลงทุน ที่ผู้เล่นจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้ดีพอ นอกจากจะเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือแล้ว เรื่องสกุลเงินดิจิทัลก็เป็นสิ่งสำคัญหากเราต้องการสร้างรายได้จากช่องทางนี้ เพราะมีแนวโน้มปรับขึ้นลงตามสถานการณ์ และถ้า Game Developers ออกแบบ Tokenomics มาไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดการ Oversupply ที่จำนวนเหรียญมีมากกว่าผู้เล่นได้
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเกม Play to Earn อาจเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับให้เข้ากับโลก Metaverse มากขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่อาชีพเกมเมอร์และครีเอเตอร์จะขึ้นมาเป็นอาชีพที่ได้รับนิยมอันดับต้น ๆ เราอาจได้เห็นทั้งอาชีพเกมเมอร์และนักลงทุนในคนเดียวกันก็เป็นได้
อ้างอิง: