Month: May 2022

Stablecoin กับประโยชน์ส่งเสริม Borderless Payment

Posted on by admin_beacon_2024

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคริปโตเคอร์เรนซีทุกสกุลนั้นมีความผันผวนสูงไม่ต่างกัน แต่ความจริงแล้วยังมีสกุลของคริปโตเคอร์เรนซีที่ราคาเสถียรอยู่บนโลก เราเรียกมันว่า Stablecoin ซึ่งขณะนี้เหรียญชนิดดังกล่าวกำลังมีบทบาทในการส่งเสริม Borderless Payment หรือการทำธุรกรรมระหว่างประเทศแบบ Real-Time Remittance อย่างไม่น่าเชื่อ

แต่ก่อนที่เราจะไปถึงตรงนั้น มาทำความรู้จัก Stablecoin กันดีกว่าว่าคืออะไร มีกี่ประเภท ทำไมถึงมีโอกาสได้รับความนิยม ปิดท้ายด้วย Stablecoin สำคัญกับ Borderless Payment อย่างไร

 

Stablecoin คืออะไร

Stablecoin คือ “คริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ โดยอาศัยกลไกต่าง ๆ เพื่อการตรึงมูลค่า เช่น สกุลเงินของโลก (Fiat) สินทรัพย์ต่าง ๆ หรือการใช้อัลกอริทึมของเหรียญ เป็นต้น” มีประโยชน์ตรงที่ทำให้ผู้คนมีสิทธิ์และอิสระเสรีในการเลือกใช้เงินมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องประสบกับปัญหาเงินเสื่อมมูลค่าลง หรือเงินเฟ้อ ดังนั้น หากทุกคนสามารถเข้าถึง Stablecoin ได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่งอีกต่อไป

 

Stablecoin มีกี่ประเภท

Stablecoin แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

 

1. Fiat – collateralized: รองรับด้วยเงินเฟียต

Stablecoin ประเภทนี้รองรับด้วยเงินสกุลต่าง ๆ บนโลก (Fiat) อย่างเช่น เงินดอลลาร์ เงินยูโร หรือเงินบาท เป็นต้น ทำให้ราคามีความใกล้เคียงหรือเท่ากับสกุลเงินในโลกแห่งความเป็นจริง โดยเราสามารถแลกเปลี่ยน Stablecoin ชนิดนี้ได้ที่แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน

ตัวอย่าง

  • Tether (USDT) เป็น Stablecoin ที่อ้างอิงมูลค่ากับดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบัน 1 เหรียญ USDT มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์ และเป็น Stablecoin ที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 1 ของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี

2. Commodity – collateralized: รองรับด้วยสินค้าโภคภัณฑ์

Stablecoin ประเภทนี้มักรองรับด้วยสินทรัพย์ต่าง ๆ บนโลก อย่างเช่น ทองคำ น้ำมัน ที่ดิน หุ้น ตราสาร หรือกองทุน นอกจากนี้ ยังมีบาง Stablecoin ที่รองรับด้วยสินค้าอื่น ๆ เช่น โลหะ เป็นต้น

ตัวอย่าง

  • Digix Gold (DGX) เป็น Stablecoin ที่อ้างอิงมูลค่ากับทองคำ โดย 1 เหรียญมีค่าเท่ากับทองคำ 1 กรัม สามารถนำไปแลกเป็นทองคำจริงได้ที่สิงคโปร์
  • Tiberius Coin (TCX) เป็น Stablecoin ที่รองรับด้วยโลหะชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 

3. Crypto – collateralized: รองรับด้วยคริปโตเคอร์เรนซี

Stablecoin ประเภทนี้รองรับด้วยคริปโตเคอร์เรนซี ข้อดีคือมันสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวมันเองได้ เพราะระบบจะมีความเป็น Decentralized ที่ไม่อ้างอิงกับตัวกลางใด ๆ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องใส่คริปโตฯ มากกว่า Stablecoin ที่สร้างออกมาถึงจะสามารถทำได้ เนื่องจากคริปโตฯ มีความผันผวนสูงมาก หากมูลค่าคริปโตฯ ลดลง ย่อมมีโอกาสที่จะถูกตัดเงินทันที

ตัวอย่าง

  • Dai เป็น Stablecoin บนบล็อกเชน Ethereum สามารถนำโทเค็น ERC-20 ที่ MakerDAO ยอมรับไปค้ำประกันมูลค่าเพื่อถอน DAI ออกมาได้

4. Non – collateralized: ไม่รองรับด้วยอะไรเลย

การสร้าง Stablecoin ประเภทนี้จะไม่รองรับด้วยอะไรเลย ดังนั้น การถูกควบคุมมูลค่าจึงเป็นการปรับลดดอกเบี้ยหรือปรับลดอุปทานเช่นเดียวกันกับการควบคุมมูลค่าของเงินตราทั่วไปในปัจจุบัน เช่น จากเดิมที่เหรียญนั้นมีมูลค่าในตลาด 2 ดอลลาร์ ระบบจะสร้างเหรียญเพิ่มขึ้นมาใหม่เพื่อลดมูลค่าของเหรียญให้เหลือ 1 ดอลลาร์นั่นเอง

ตัวอย่าง

  • Basis เป็น Stablecoin ที่ปรับลดอุปทานของเหรียญเพื่อให้เหรียญมีมูลค่าคงที่

 

ทำไม Stablecoin มีโอกาสได้รับความนิยมอยู่เสมอ

  • วิกฤตเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงของประเทศคู่สัญญาเพิ่มขึ้น
  • ค่าเงินอื่น ๆ เริ่มผันผวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่ค่อนข้างมั่นคงกว่า
  • มีการการใช้ Stablecoin ในการชำระเงินมากขึ้น

 

Stablecoin สำคัญกับ Borderless Payment อย่างไร

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าประโยชน์ของ Stablecoin ทำให้ผู้คนมีสิทธิ์และอิสระเสรีในการเลือกใช้เงินมากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้สกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่งอีกต่อไป และสำคัญกับ Borderless Payment หรือการชำระเงินระหว่างประเทศแน่นอน

โดยปกติการชำระเงินต่างประเทศต้องมีตัวกลางอย่างธนาคารโอนไปที่ปลายทาง ซึ่งต้องมีการตกลงกันเรื่องสกุลเงิน จึงทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเสียเปรียบได้ อีกทั้งค่าธรรมเนียมก็ค่อนข้างสูงและใช้ระยะเวลาในการดำเนินการภายใน 3 วัน

แต่ถ้าเป็นการใช้ Stablecoin เราจะสามารถชำระเงินได้ภายในไม่กี่วินาทีได้ตลอด 24/7 ไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเหมาะกับประเทศที่มีการชำระเงินที่จำกัดมาก ๆ อีกทั้งค่าธรรมเนียมยังถูกแทบจะเหมือนโอนฟรี จุดเด่นตรงนี้เองที่ทำให้ Stablecoin เข้ามามีบทบาทกับ Borderless Payment ซึ่งในขณะนี้ก็มีการพัฒนาเพื่อรองรับการทำธุรกรรมของ Stablecoin ในระดับ B2B แล้วด้วย

Summary

 

แม้ Stablecoin จะมีโอกาสได้รับความนิยม แต่คงต้องมาลุ้นกันว่าจะสามารถเอาชนะการชำระเงินรูปแบบเดิมได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องกฎหมายและการใช้งาน ถ้าหากมีการสร้าง Stablecoin เพิ่มขึ้น กฎเกณฑ์ก็ต้องมากขึ้น และการที่จะถูกยอมรับโดยไม่มีรัฐมาเกี่ยวข้องก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย อีกอย่างถ้าในอนาคตตลาดคริปโตเคอร์เรนซีนั้นไม่เวิร์ก การไปสู่ Mass Adoption ของStablecoin ที่ต้องรองรับด้วยคริปโตฯ ก็เป็นไปได้ยาก

อ้างอิง: