Aging society กับโอกาสทางธุรกิจของ Startup ไทย

May 25, 2021

SHARE

ในปัจจุบันประเทศไทยได้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ปัจจุบันสถิติผู้สูงอายุในปี 2563 อยู่ที่ 17.57% ซึ่งจากการคาดการณ์ในปี 2564 สัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20% และเข้าสู่เกณฑ์สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20% ) Aging Society จึงเปรียบเสมือนอนาคตอันใกล้ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจ

 

Aging Society กับความเปลี่ยนแปลงในสังคม

 

Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านประชากร เมื่อจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับประชากรวัยรุ่นที่ลดน้อยลง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในครั้งนี้ ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนด้วยวัยทำงาน เมื่อแรงงาน (Labor) น้อยลงทำให้ประเทศเสียโอกาสการเติบโตด้านเศรษฐกิจตามไปด้วย

ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ส่งผลเสียเสมอไป เพราะเมื่อโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลง กำลังซื้อและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนตาม ทำให้เกิดช่องว่างทางการตลาดจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนหรือหาช่องทางทำกำไรจากผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่แห่งใหม่ ซึ่งมีโอกาสพัฒนาสู่เศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) และ เศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity Economy)

Aging Soiciety ความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมโอกาส

เมื่อวิเคราะห์ถึงโอกาสที่มาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมผู้สูงอายุ จะสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว และการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น

โอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว
สำหรับในระยะยาวเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านภาพรวมของสังคม ทั้งด้านจำนวนประชากร และพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพ ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจและสังคม

  • ประชากรลดน้อยลง คนแต่งงานมีลูกน้อยลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้บริโภคจะมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนไปยังผู้สูงอายุมากขึ้น และกลุ่มที่มี กำลังซื้อหลักอย่างวัยทำงานก็จะลดลงเรื่อยๆ
  • ผู้คนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ประชาชนแข็งแรงมากขึ้น อายุยืนมากขึ้น ส่งผลกระทบในระยะยาว ในส่วนของภาคอุปโภคบริโภคและภาคการเกษตร ที่ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น การปรับแปลงเกษตรทั่วไป สู่ฟาร์มเกษตรอาหารปลอดสารพิษ หรือ การผลิตสินค้าของผู้สูงอายุในจำนวนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

โอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น
ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น เปรียบได้กับปัจจัยเร่งที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็วกว่า โดยความเปลี่ยนแปลงระยะสั้นจะเน้นไปที่พฤติกรรมที่ปฏิบัติได้ทันที อย่างการเรียนรู้เทคโนโลยีและการลงทุน เป็นต้น

  • การขยายวัยเกษียณอายุ รายได้และกำลังซื้อของประชาชนจะเพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย กลุ่มคนผู้สูงอายุจะเข้ามามีบทบาทในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มมากยิ่งขึ้นในทันที
  • การลงทุน การออมเงินเพื่อเตรียมพร้อมเกษียณเพิ่มขึ้น ในส่วนนี้เทรนด์ที่กำลังมาแรงจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของกองทุน RMF และ LTF ที่สนับสนุนให้คนลงทุนตั้งแต่ก่อนเกษียณ
  • การเปิดรับเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ โดยจากสถิติพบว่า กลุ่มคนผู้ใช้ Facebook ในช่วงอายุระหว่าง 55-64 ปีมีมากถึง 1.8 ล้านบัญชี และจากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุใช้ไลน์ในการบริโภคสื่อและข่าวสารมากขึ้น 50% ซึ่งในส่วนนี้ส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจ ทั้งการปรับตัวและทำการตลาดออนไลน์เพื่อรองรับตลาดผู้สูงอายุ

โอกาสการทางธุรกิจจาก Aging Society

สำหรับการสร้างโอกาสทางธุรกิจจาก Aging Society เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมผู้สูงอายุทั้งความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวและสั้น

 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล (Real Estate Tokenization)

 

Real Estate Tokenization คือ สินทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลที่อ้างอิงมูลค่าจากอสังหาริมทรัพย์ โดยมีเทคโนโลยี Blockchain ในการจัดการ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งทางเลือกที่ผู้สูงอายุเลือกใช้ในการลงทุน เพื่อสร้าง Passive Income

Real Estate Tokenization อนาคตที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้สูงอายุ ทั้งการลงทุน ออมเงินเพื่อเตรียมพร้อมการเกษียณอายุ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของผู้สูงอายุอีกด้วย

นอกจากนี้ Real Estate Tokenization ยังมีจุดเด่นที่ปรับรูปแบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบเดิม จากที่ผู้บริโภคต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อ สู่การลดต้นทุนในการลงทุนแต่เพิ่มจำนวนนักลงทุนแทน (Volume) เปลี่ยนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้จับต้องง่ายมากยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของผู้สูงอายุที่ไม่มีกำลังซื้อมากพอในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์แบบเก่า

 

ตัวอย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล

ในตอนนี้ Tokenization Real Estate Assest ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว โดย Elevated Returns บริษัทจัดการสินทรัพย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการทำ Tokenization Real Estate Assest ด้วยการเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์เป็น Token โดยเริ่มต้นจากโครงการขายรีสอร์ตที่รัฐโคโลราโด (Colorado) ด้วยมูลค่ากว่า 18 ล้านอีเธอเรียม (Ethereum) หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท

 

ธุรกิจของตกแต่งบ้านแบบ Universal Design

 

สำหรับธุรกิจตกแต่งบ้านเป็นโอกาสที่มาพร้อมกับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้คนวัยดังกล่าวไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปทำงานแต่กลับใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น การออกแบบและตกแต่ง บ้านเพื่ออำนวยความสะดวกจึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามอง

การออกแบบและตกแต่งบ้าน แบบ Universal Design เพื่อให้ทุกคนภายในบ้านสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น การทำงานของร่างกายจึงมีประสิทธิภาพลดลง เช่น การเดินและการทรงตัวที่ไม่มั่นคงเหมือนก่อน จึงเกิดการตกแต่งบ้านเพื่ออำนวยความสะดวก ตั้งแต่การติดตั้งราวจับ การรีโนเวทบ้านให้ผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่างเพื่อสะดวกในการเดิน เป็นต้น

โดยโอกาสทางธุรกิจของตกแต่งบ้านนั้น ผู้ที่จับจ่ายใช้สอยที่แท้จริงไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่เป็นบุตรหลานที่ปรับปรุงบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตภายในบ้านมากขึ้น

ตัวอย่างธุรกิจตกแต่งบ้าน

Deesawat แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ในไทย ได้ปล่อยเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ โดยเริ่มต้นจากเก้าอี้ (Brace Stool) ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้สูงอายุ เช่น การออกแบบที่แขนด้านหลังและด้านหน้าให้เหลื่อมกันเพื่อใช้เป็นราวจับเก้าอี้ ซึ่งช่วยให้อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุเป็นต้น

 

ธุรกิจด้านสุขภาพ

จากแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่ผู้สูงอายุหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ทั้งการออกกำลังกายและการเลือกรับประทานอาหาร รวมไปถึงธุรกิจในด้านการบริการดูแลสุขภาพ เช่น บริการ Home Care ดูแลผู้สูงอายุภายในบ้าน เป็นต้น

โดยหนึ่งในธุรกิจที่ตอบโจทย์เรื่องความเปลี่ยนแปลงในการดูแลสุขภาพ คือ ธุรกิจด้านอาหารเพื่อสุขภาพ เมื่อผู้คนหันมาใส่ใจอาหารที่รับประทานมากขึ้น ดังนั้นโอกาสการเติบโตของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพจึงโตตามไปด้วย

ตัวอย่างธุรกิจด้านสุขภาพ

สำหรับธุรกิจด้านสุขภาพโดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เป็นธุรกิจที่เติบโตในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีร้านอาหารที่รองรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่าง Silver Cuisine ที่ออกแบบเมนูให้สอดคล้องกับโภชนาการของผู้สูงอายุ ทั้งการเลือกใช้ปริมาณเนื้อสัตว์ที่พอดี รวมถึงการลดการใช้โซเดียมเป็นต้น

ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้คนที่เพิ่งเข้าสู่วัยเกษียณ โดยผู้คนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อแต่ในวัยทำงานอาจจะไม่มีเวลาเที่ยว ดังนั้นเมื่อถึงวัยเกษียณก็พร้อมที่จะออกท่องเที่ยว จึงสอดคล้องกับแนวโน้มการตลาดด้านท่องเที่ยวที่เผยข้อมูลว่า เทรนด์การท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ (Word is going to be grey) กำลังมาแรงในปี 2020

ดังนั้นการออกแบบธุรกิจการท่องเที่ยวให้ตอบสนองต่อวิถีผู้สูงอายุจึงเป็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น การจัดทริปท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ มีกิจกรรมอย่างนวดแผนโบราณ ฝึกโยคะ การประคบสมุนไพร เป็นตัวชูโรงในการดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้

โดยการพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่เพียงแต่มีมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้สูงอายุในประเทศเท่านั้น แต่ผู้สูงอายุชาวต่างชาติ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสเข้ามาใช้บริการธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีหลายประเทศทั่วโลกที่มีประชากรกลุ่มเกษียณ ในอัตราส่วนถึง 1 ใน 4 จนไปถึง 6 ของประชากรประเทศทั้งหมด เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มีขนาดใหญ่และสามารถสร้างโอกาสให้กับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย

ตัวอย่างธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สำหรับประเทศไทยมีธุรกิจหลายแห่งที่เริ่มต้นนำเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาปรับใช้ เช่น Local Alike Startup สายท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่นำเสนอชุมชนพื้นถิ่น พร้อมกับแพ็กเกจดูแลสุขภาพอย่างการทำสปาและโยคะ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ท่องเที่ยวชมธรรมชาติ สัมผัสวัฒนธรรม และได้ดูแลสุขภาพผ่อนคลายร่างกายไปพร้อมกับการท่องเที่ยว

นอกจาก Local Alike แล้วยังมี Heathticket เว็บไซต์สำหรับรวมแพ็กเกจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งการจองสปา รวมถึงการจองโรงพยาบาลเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุต่างประเทศ ที่ต้องการรับบริการทางการแพทย์ และท่องเที่ยวพักผ่อนในเมืองไทยในคราวเดียวกัน

 

Summary

 

Aging society หรือสังคมผู้สูงอายุ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่มาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจของ Startup ในไทย การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจทั้งในด้านของสินค้าและบริการ รวมถึงการทำการตลาดเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และด้วยความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวเช่นนี้ หากธุรกิจไหนที่ปรับตัวหรือสามารถหาช่องทางการทำธุรกิจกับผู้สูงอายุได้ แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

SHARE