จากกระแสสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่ราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เทคโนโลยี Blcokchain ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการลงทุนและการนำมาปรับใช้ประโยชน์กับธุรกิจ โดยในบทความนี้ KATALYST จะไขข้อสงสัยว่า Blockchain คืออะไร และเทคโนโลยีจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไรในอนาคต
Blockchain คืออะไร
Blockchain คือ เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล (Data Structure) ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายผ่านการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกจะส่งต่อข้อมูลไปยังทุกคนในเครือข่าย ซึ่งยากต่อการปลอมแปลงข้อมูล เพราะทุกคนจะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ส่งผลให้ Blockchain เป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง
Blockchain เกี่ยวข้องอะไรกับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)
ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมาสกุลเงินดิจิทัลได้รับความสนใจจากผู้คนมากยิ่งขึ้น จากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั้ง Bitcoin และ Ethereum ซึ่งมีหลายปัจจัยมารองรับทั้งค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงหรือการกว้านซื้อจากนักลงทุนสถาบัน
สิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างสกุลเงินดิจิทัลกับ Blockchain คือ พื้นฐานของระบบที่ต้องเข้ารหัสผ่านคอมพิวเตอร์ โดยไม่รวมข้อมูลไว้ที่ใดที่หนึ่ง แต่จะกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายต่างๆ โดยทุกข้อมูลจะเชื่อมโยงกันทั้งระบบ
Blockchain เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลของผู้ครอบครองสกุลเงินดิจิทัล ทั้งจำนวนเงินและจำนวนครั้งในการโอน โดยกระจายข้อมูลไปให้ทุกคนในเครือข่ายรับรู้ถึงประวัติการทำธุรกรรม ส่งผลให้สกุลเงินดิจิทัลมีความโปร่งใส และปลอดภัยต่อการถูกปลอมแปลงข้อมูล
Blockchain ทำอะไรได้บ้างนอกจากเรื่องสกุลเงินดิจิทัล
ในปัจจุบัน Blockchain ถูกใช้งานในหลายอุตสาหกรรม ด้วยคุณสมบัติที่สามารถจัดเก็บและเชื่อมโยง ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ สำหรับตัวอย่างธุรกิจที่เริ่มนำ Blockchain มาใช้งานมีดังนี้
ธุรกิจการเงิน
สำหรับธุรกิจการเงินกับ Blockchain สามารถนำมาต่อยอดในกระบวนการทำงาน ทั้งการเสริมความปลอดภัยในด้านการจัดเก็บข้อมูล และช่วยลดขั้นตอนในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยทางธนาคาร ReiseBank AG ในประเทศเยอรมนี ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยในการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งลดระยะเวลาจาก 1-3 วัน เหลือเพียง 20 วินาทีเท่านั้น
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
Blockchain เข้ามาพัฒนาและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งด้านการทำ Smart Contract ที่ช่วยตรวจสอบข้อมูลและลดตัวกลางในการทำสัญญา ไปจนถึงการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขาย แปลงสินทรัพย์เป็น Token และซื้อขายผ่านระบบ ICO (Inital Coin Offering) ซึ่งเป็นระบบการระดมทุนแบบดิจิทัล โดยเสนอซื้อขาย Token ผ่านระบบ Blockchain
ตัวอย่างการใช้งานจริง Elevated Returns บริษัทจัดการสินทรัพย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการทำ Tokenization Real Estate Assest ด้วยการเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์เป็น Token โดยเริ่มต้นจากโครงการขายรีสอร์ตที่รัฐโคโลราโด (Colorado) ด้วยมูลค่ากว่า 18 ล้านอีเธอเรียม (Ethereum) หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท
ธุรกิจการแพทย์
ในด้านธุรกิจการแพทย์ Blockchain เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการข้อมูล ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายประวัติคนไข้ ทำให้การส่งต่อการรักษา (Refer) สะดวกมากยิ่งขึ้น หรือการสอนหุ่นยนต์กู้ภัย ที่สามารถสอนหุ่นยนต์เพียงตัวเดียว แต่สามารถใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการกระจายความรู้ไปสู่หุ่นยนต์ตัวอื่นๆ ได้ ทำให้ลดระยะเวลาการป้อนคำสั่งให้กับหุ่นยนต์ทุกตัว
ตัวอย่างการใช้ Blockchain ในธุรกิจการแพทย์จริง เช่น Patientory สตาร์ทอัพสายสุขภาพนำ Blockchain มาใช้ในการเก็บข้อมูลสำคัญทางการแพทย์ของผู้ป่วย หรือ Farmatrust สตาร์ทอัพจากลอนดอนที่ใช้ Blockchain ในการตรวจสอบที่มาของยาแต่ละชนิด เพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลของยา และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
วิธีการนำ Blockchain มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่หลายเจ้า เริ่มหันมาใช้ Blockchain ในการดำเนินงาน ซึ่งแท้จริงแล้ว Blockchain ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่จำกัดเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่สามารถปรับใช้กับธุรกิจทั่วไปได้ด้วย โดยตัวอย่างการใช้งาน Blockchain ในธุรกิจมีดังนี้
1. พัฒนารูปแบบการทำสัญญา
Blockchain สามารถนำมาปรับใช้ในการทำสัญญาระหว่างธุรกิจ ผ่านการทำ Smart Contract หรือสัญญาดิจิทัล โดยสัญญาดังกล่าวจะเป็นรูปแบบที่สามารถดำเนินงานได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง นอกจากนี้ Smart Contract ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรพนักงานในการตรวจสอบเอกสาร โดยข้อมูลจะถูกตรวจสอบผ่านเครือข่าย ทำให้ลดระยะเวลาและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
2. ลดระยะเวลาและต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน
ปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเป็นเวลานาน และต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันทางการเงินทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น หากปรับมาใช้ Blockchain ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ด้วยระบบ Peer to Peer ที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าว นอกจากนี้ Blockchain ยังสามารถบันทึกและติดตามที่มาของเงินได้อีกด้วย ทำให้ลดขั้นตอนการตรวจสอบที่มาของเงิน ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดเวลาและต้นทุนในการทำธุรกรรม
3. รู้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้ามากขึ้น
ในอนาคตที่มีแนวโน้มการใช้งาน Blockchain มากขึ้น โดยในการทำธุรกรรม ผู้คนจะมี Digital ID ของตัวเอง และ Digital ID นี้เอง จะช่วยให้ธุรกิจสามารถทราบพฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมที่เกิดจาก Blockchain ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นพฤติกรรมลูกค้าที่พบจึงเป็นพฤติกรรมที่แท้จริง
การที่เราทราบข้อมูลเชิงลึกที่แท้จริง ทำให้เราสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านการตลาดไปจนถึงการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น
Summary
Blockchain คือ หนึ่งในเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเข้ามาช่วยและอาจเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับ API และ Big Data โดย Blockchain นำมาซึ่งโอกาสทั้งในด้านการลดระยะเวลาและต้นทุน ไปจนถึงการทำการตลาด โดยในปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่เริ่มนำ Blockchain มาใช้งาน ซึ่งผลลัพธ์ก็พิสูจน์แล้วว่า Blockchain สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริง ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น แต่ Startup ก็สามารถนำ Blockhain เข้ามาใช้ในการพัฒนา Product & Service ได้เช่นเดียวกัน