7 ข้อผิดพลาดที่ถูกมองข้ามในปีแรกของการเปิดบริษัท

July 19, 2021

SHARE

รู้หรือไม่ Startup กว่า 20% ล้มเหลวตั้งแต่ปีแรกของการเปิดบริษัท ความล้มเหลวของผู้ประกอบการเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยทั้งในด้านการตลาดและแนวทางการบริหารองค์กร โดยในบทความนี้เราจะมาทบทวนข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งบริษัท เพื่อให้ธุรกิจของคุณไม่อยู่ใน 20% ที่ล้มเหลวตั้งแต่ปีแรกของการเปิดบริษัท

 

1. ขาดความเข้าใจในโมเดลธุรกิจ

หลายครั้งที่การทำ Startup เริ่มต้นจากกลุ่มคนที่มีความสนใจในด้านเดียวกัน เช่น กลุ่ม DEV (Developer) ที่มีไอเดียและความรู้ด้านเทคโนโลยี สามารถช่วยกันพัฒนาสินค้าดีมีคุณภาพออกสู่ตลาดได้ แต่เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในธุรกิจ จึงไม่สามารถปิดการขายหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยมากกว่าแค่ตัวสินค้าหรือบริการเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงควรทำความเข้าใจและกำหนดโมเดลธุรกิจของตัวเองอย่างชัดเจน ตั้งแต่การบริหารจัดการต้นทุนการผลิต การผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า รวมถึงการหาช่องว่างทางการตลาดเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาวด้วย

Lance Vanden Brook ผู้บริหาร Aria Insight ได้กล่าวถึงความผิดพลาดของ CyPhy Works Tech Startup ที่พัฒนาโดรนสำหรับการเกษตร สำรวจทรัพยากรทางธรรมชาติและการใช้งานในกองทัพเอาไว้ว่า ในช่วงแรกของการทำ Startup นั้น เขาให้ความสำคัญกับการสร้างโดรนด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากกว่าการทำความเข้าใจตลาด ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดเพราะโดรนของเขาไม่ตอบสนองต่ออุตสาหกรรม ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างตรงจุด และไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของตลาด จึงทำให้ CyPhy Works เป็นอันต้องจบลง

 

2. มองข้ามความสำคัญของข้อมูล

ในยุคที่ธุรกิจขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายคนเลือกที่จะเชื่อสัญชาตญาณมากกว่าข้อมูล และนี่ถือเป็นข้อผิดพลาดครั้งสำคัญ เพราะข้อมูลช่วยให้การตัดสินใจนั้นแม่นยำมากขึ้นและยังช่วยลดความผิดพลาดในการทำธุรกิจด้วย

 

3. การทำการตลาดที่ผิดพลาด

การตลาดถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายและทิศทางจึงเป็นสิ่งสำคัญ หลายบริษัทที่เปิดใหม่อาจจะยังไม่มีข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำการตลาดได้ ทั้งไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือรูปแบบโฆษณาที่ไม่ดึงดูดมากพอ

ความผิดพลาดจากการทำการตลาดส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของเงินทุนที่ต้องเสียไปกับการทดลอง รวมถึงการขาดรายได้เพราะไม่มีการสั่งซื้อจากลูกค้า ดังนั้น สิ่งที่บริษัทเปิดใหม่ควรทำ คือ การศึกษาตลาดและผู้บริโภคให้ละเอียดมากขึ้น การกำหนดทิศทางการตลาด และการมุ่งเน้นวิธีการทำตลาดที่ไม่ใช้เงินเยอะแต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่าง Growth Markting เป็นต้น

 

4. ยึดติดกับไอเดียตอนเริ่มต้นเปิดบริษัท

ผู้ประกอบการหลายคนยึดมั่นในไอเดียดั้งเดิมในการเริ่มต้นธุรกิจมากเกินไป แม้ความเชื่อในการทำธุรกิจจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งนี้ก็อาจย้อนกลับมาทำลายธุรกิจได้เช่นกัน เพราะหลายครั้งที่สินค้าหรือบริการไม่ตอบโจทย์การตลาดและผู้บริโภคตามที่วางแผนไว้ การเชื่อมั่นและยึดติดกับไอเดียเดิมมากเกินไปจึงอาจทำให้ขายสินค้าหรือบริการไม่ได้จนต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

ดังนั้น หากยอดขายสินค้าหรือบริการไม่ดีในช่วงปีแรกของการเปิดบริษัท และได้วิเคราะห์แล้วว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค สิ่งที่ควรทำ คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าหรือบริการโดยนำหลักการ Pivot มาใช้เพื่อเริ่มต้นศึกษาตลาดและออกแบบสินค้าหรือบริการใหม่ พร้อมปรับทิศทางธุรกิจให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้มากที่สุด

5. ให้ความสำคัญกับการหาทุนมากกว่าการขาย

เงินทุนเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ ซึ่งการทำ Startup ส่วนใหญ่มักจะหาทุนจากการประกวดหรือระดมทุนจากนักลงทุน (Venture Capitalist) หรือจาก Crowd Funding เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินในการทำธุรกิจต่อไป โดยมี Startup จำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญกับการหาทุนเป็นหลักมากกว่าการพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ดังนั้น ธุรกิจจึงอยู่รอดได้เพราะเงินทุนมากกว่ารายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ หากทุนหมด โอกาสที่ธุรกิจจะจบตามเงินทุนก็มีสูงเช่นเดียวกัน

 

6. การบริหารจัดการเงินลงทุนที่ผิดพลาด

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว Startup หลายรายเมื่อได้เงินทุนมามักนำไปลงทุนกับสิ่งที่ยังไม่จำเป็นต่อบริษัท ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาทางการเงินในอนาคต หรือการลงทุนกับสิ่งที่ไม่สร้างโอกาสหรือผลกำไรให้กับบริษัท เช่น การเช่าออฟฟิศในสถานที่ที่แพงมากเกินไปอย่างในย่าน CBD (Central Business District) ซึ่งเป็นการสร้างต้นทุนโดยไม่จำเป็น หรือการทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไปกับการโฆษณามากกว่าการพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ดีเพื่อสร้างกำไรให้กับบริษัท เป็นต้น

7. ขาดประสบการณ์ในการบริหารทีม

Startup หลายรายเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนที่มีความคิดเดียวกัน แต่การเปิดบริษัทและการทำงานจริงนั้นต่างจากการประกวดแข่งขันอย่างสิ้นเชิง เพราะในช่วงปีแรกของการเปิดบริษัทเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจนั้น หากทีมไม่มีผู้นำที่ดีแล้วอาจส่งผลให้เกิดปัญหาภายในได้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดทิศทางของธุรกิจ การปรับปรุงพัฒนาสินค้า หรือการจัดการความสัมพันธ์ของคนในทีม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ Startup ล้มเหลวตั้งแต่ปีแรกได้ทั้งสิ้นเพราะขาดประสบการณ์ในการบริหารทีม

 

Summary

 

การเปิดบริษัทหรือการทำ Startup ในปีแรกมีหลายโจทย์สำคัญที่ต้องเผชิญ ทั้งในด้านการขาย การพัฒนาสินค้าหรือบริการ ไปจนถึงการบริหารจัดการทีม หากสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยปิดประตูความล้มเหลวในปีแรกของการเปิดบริษัทและเพิ่มประสบการณ์ในการทำธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้

ที่มา:

SHARE