กสิกรไทยจับมือ 8 พันธมิตรและ Startup จัด K SME Good To Great ปีที่สอง

March 26, 2019

SHARE

ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าโครงการ K SME Good to Great ปีที่สอง ดันกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และธุรกิจค้าปลีก จัดคอร์สอัพธุรกิจเก่งให้โตด้วยการสัมมนาให้ความรู้ แคมป์อบรมเชิงลึก และการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว ผู้ร่วมโครงการ 10 ราย ที่แข็งแกร่งที่สุดจะได้รับเงินรางวัลในการพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีรวม 1 ล้านบาทจากธนาคารกสิกรไทย พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพันธมิตรของโครงการ

 

นางสาวจิตราวิณี วรรณกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยจัดโครงการ K SME Good to Great คอร์สอัพธุรกิจเก่งให้โต เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมศักยภาพให้ธุรกิจแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมในทุก ๆ ด้าน เริ่มต้นโครงการครั้งแรกในปี 2561 มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 2,424 ราย และมีเอสเอ็มอีสุดแกร่งที่ได้รับรางวัลทุนวิจัยจากธนาคารไปแล้ว 8 ราย ธนาคารกสิกรไทยจึงเดินหน้าโครงการ K SME Good to Great ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยปีนี้จะมุ่งเน้นเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ประมาณการณ์อัตราการเติบโตในปี 2562 ที่ 3.5%, 5.1% และ 2.8% ตามลำดับ โดยปีนี้ธนาคารได้ร่วมกับ 8 พันธมิตร ประกอบด้วยหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและแพลตฟอร์มที่ตอบสนองการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย, บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด, บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด, บริษัท พาณิชย์ดิจิทัล จำกัด, บริษัท ไอท้อปพลัส จำกัด และบริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด ซึ่งจะร่วมมือกันช่วยพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีที่ร่วมโครงการนี้ตลอดทั้งโครงการ โดยปีนี้จะจัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกสำหรับธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และครั้งที่สองสำหรับธุรกิจค้าปลีก ในแต่ละครั้งจะมีกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

  1. งานสัมมนาให้ความรู้เทรนด์ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประสบการณ์จากผู้ประกอบการในธุรกิจนั้นๆ
  2. แคมป์อบรมเชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในแต่ละด้าน เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงกระบวนการผลิต จับคู่ธุรกิจเข้าช่องทางจำหน่าย กลยุทธ์การจัดการธุรกิจค้าปลีกแบบ Omni Channel เพื่อไปสู่ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ โดยแต่ละครั้งจะคัดเลือกผู้สมัครเพียง 50 รายเท่านั้น
  3. การให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในการทำวิจัย พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และจะมีเพียง 10 รายเท่านั้นจาก 2 โครงการที่จะได้รับคัดเลือก รับเงินรางวัลในการพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีรายละ 100,000 บาท ในส่วนของธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอางจะได้รับเงินทุนในการวิจัยธุรกิจจาก สกว. ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากโครงการ จะได้รับสิทธิ์พิจารณาเข้าช่องทางจัดจำหน่าย Central Food Hall, Tops, 24 catalog และ Shopat24.com อีกด้วย

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมโครงการ K SME Good to Great ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นโครงการแรกที่จัดขึ้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 21 เมษายน 2562 ที่เว็บไซต์ www.ksmegoodtogreat.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ K BIZ Contact Center โทร. 02-8888822

นางสาวจิตราวิณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ธนาคารมีพันธมิตรหลากหลายองค์กรที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มงานให้ครบเครื่องมากยิ่งขึ้น เป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงพร้อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยธนาคารพร้อมให้การสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกมิติ รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างเพื่อนผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน อันจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจได้

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ ด้านเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า เอสเอ็มอีจะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่กําลังจะเกิดขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจ ได้แก่ ความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ คุณภาพของสินค้าต้องดี รักษามาตรฐานการผลิต ใส่ใจที่เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ สร้างสินค้านวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และบริหารจัดการด้วยความเข้าใจ โครงการ K SME Good to Great นับเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยเอสเอ็มอีเพิ่มขีดความสามารถการทำธุรกิจ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ ซึ่ง “นวัตกรรม” จะเป็นกุญแจหลักที่ผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีในการแข่งขันไปสู่ระดับสากลได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนต่อไป

นายมนตรี กนกพงศกร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารและจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เปิดเผยว่า การเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ K SME Good to Great ครั้งนี้ ตอกย้ำแนวนโยบายกลุ่มเซ็นทรัลที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ด้วยการสนับสนุนเอสเอ็มอีโดยทำหน้าที่เป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านค้าปลีกต่าง ๆ เพื่อให้สินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยเป็นที่ต้องการของตลาด โดยสินค้าที่สามารถวางจำหน่ายในซูเปอร์มารเก็ตของบริษัทได้นั้น ต้องผ่านมาตรฐานตามกฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ใช้บริการสินเชื่อธนาคารกสิกรไทย จะได้รับสิทธิพิเศษจากบริษัท ยกเว้นค่าเปิดหน้าบัญชีและค่าแรกเข้าสินค้าใหม่ พร้อมแนะนำหลักการวางแผนการผลิต การบริหารต้นทุนและกำไร การส่งเสริมการขายและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

นายวีรวัฒน์ หงษ์สิทธิวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการโครงการ B2C e-Commerce บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการซื้อขายเชื่อมโยงทั้งออฟไลน์และออนไลน์มาโดยตลอด ได้แก่ การจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น การจำหน่ายผ่านแคทตาลอก ทีวีช้อปปิ้ง เว็บไซต์ คอลเซ็นเตอร์ และแอปพลิเคชัน บริษัทมีคลังจัดเก็บและการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีมากกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ โดยมีระบบไอทีมาตรฐานสากลที่รองรับการทำงานแบบไร้รอยต่อ ดังนั้น ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จึงเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงออฟไลน์และออนไลน์ (O2O platform) ที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ให้ได้รับคำแนะนำเรื่องการพัฒนาให้เป็นที่ต้องการและสามารถเข้าถึงช่องทางเพื่อไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสื่อสารและการขายกับลูกค้าทางออนไลน์ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาเสริมไปกับการทำธุรกิจค้าปลีกแบบเดิม และไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจค้าปลีกจะไปไม่รอด หากผู้ประกอบการพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถอยู่รอดต่อไปได้อย่างแน่นอน

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของโครงการ K SME Good to Great สอดคล้องกับแนวทางของสมาคมฯ ที่ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ประตูการค้าเปิดกว้างทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ช่องทางการขายจะหลอมรวมกัน ไม่มีเส้นแบ่งแยกออนไลน์และออฟไลน์ ผู้บริโภคมีความคาดหวังที่สูงขึ้นต่อการบริการในทุก ๆ ช่องทางว่าจะได้รับบริการในรูปแบบที่เป็นหนึ่งเดียวกันไม่ว่าจะซื้อผ่านทางช่องทางใด สิ่งนี้นำมาซึ่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้ทันและเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

นายกัมพล ธนาปัญญาวรคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอท้อปพลัส จำกัด เปิดเผยว่า ข้อมูลเป็นทรัพยากรสำคัญประการหนึ่งที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม ต้องอาศัยความรู้ในเชิงเทคนิคช่วยในการบริหารจัดการ การจัดเก็บข้อมูลที่ดี การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีคุณภาพ และการแสดงผลที่สื่อสารตรงจุดจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินได้ว่าธุรกิจกำลังเติบโตหรือถดถอย ส่วนไหนของธุรกิจที่ดีขึ้น ส่วนไหนที่ต้องแก้ไข หรือแสดงให้เห็นโอกาสในการขยายธุรกิจได้ ทั้งนี้ การนำข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจจะสะท้อนความเป็นจริงได้ชัดเจนกว่าการใช้ความคิดเห็นหรือความรู้สึก ดังนั้น ภายใต้โครงการนี้ ไอท้อปพลัส จะร่วมแบ่งปันความรู้ให้ผู้ประกอบการเข้าใจเทคนิคการจัดการข้อมูลทั้งกระบวนการ

นางสาววณิชชา วรรคาวิสันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาณิชย์ดิจิทัล จำกัด เจ้าของเพจ Digitory เปิดเผยว่า องค์ความรู้สำคัญประการหนึ่งที่เอสเอ็มอีจะได้จากโครงการนี้ คือ การทำการตลาดออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน การขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้เครื่องมือทำการตลาดออนไลน์อาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เพราะฉะนั้น บริษัทฯมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเอสเอ็มอีเข้าใจกระบวนการทำการตลาดออนไลน์ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการใช้เครื่องมืออย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายสวภพ ท้วมแสง กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อการขายมีโอกาสและช่องทางมากขึ้น การบริหารจัดการข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการดำเนินธุรกิจ เพราะทำให้เราสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะได้ตัวช่วยในการทำธุรกิจ อย่างครบถ้วนตั้งแต่การติดต่อกับลูกค้าไปจนถึงการปิดการขาย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการได้อย่างง่ายดาย

SHARE