KATALYST Talk EP.2: (เกือบจะ) Fail แล้วไง

February 25, 2021

SHARE

เมื่อคืนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทาง KATALYST ได้จัดงาน KATALYST Talk EP.2 โดยเชิญคุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ (แมกซ์) นายกสมาคม Thai Tech Startup Association (TTSA) และ CEO Eventpop พร้อมกับแขกรับเชิญพิเศษคุณธนพันธ์ วงศ์ชินศรี (ต้น) ผู้ก่อตั้งร้าน Penguin Eat Shabu มาพูดคุยกันในหัวข้อ “(เกือบจะ) fail แล้วไง”

 

ผลกระทบของธุรกิจจากวิกฤต Covid-19

คุณแมกซ์ได้แชร์ผลกระทบของ Eventpop ที่ได้รับจากวิกฤต COVID-19 โดยเดิมทีธุรกิจของ Eventpop คือ การจัดอีเวนต์ออฟไลน์ โดยมีระบบขายและเว็บไซต์คอยช่วยให้ผู้จัดอีเวนต์ให้ทำงานสะดวกขึ้น แต่เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ในช่วงดังกล่าว งานอีเวนต์นั้นถูกยกเลิกหมด ส่งผลให้ทาง Eventpop ขาดรายได้หลักกว่า 95%

ซึ่งคุณต้น Penguin Eat Shabu ก็ประสบปัญหาด้านธุรกิจไม่ต่างกัน เพราะรายได้หลักที่มี คือการขายอาหาร และด้วยประเภทของอาหารอย่างชาบูที่ส่วนใหญ่จะเน้นทานที่ร้าน แต่เมื่อขายอาหารที่ร้านไม่ได้ ทำให้คุณต้นก็ต้องหาวิธีการปรับตัวเช่นเดียวกัน และถึงแม้ว่าจะลองมาขายแบบ Food Delivery แต่ก็ยังประสบปัญหาด้านการจัดการระบบการขาย ซึ่งเกิดเป็นกระแสที่ไม่ค่อยดีนักในโลกออนไลน์

 

มองมุมต่าง หาโอกาส และการปรับตัว คือการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ

จากกระแสเรื่องระบบการขายของ Penguin Eat Shabu ทำให้คุณแมกซ์มองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ ผ่านการยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาระบบการขายให้กับ Penguin Eat Shabu ด้วยการนำระบบการขายที่ตัวเองมีผนวกกับสินค้าของคุณต้น จะสามารถนำพาธุรกิจของทั้งสองคนรอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้

 

Eventpop กับโอกาสที่มาจากการปรับตัว

การปรับตัวของ Eventpop ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ไขปัญหา แต่เป็นการสร้างโอกาสไปในตัว หลังจากการปรับปรุงระบบหลังบ้านให้รองรับธุรกิจ Food Delivery ส่งผลให้คุณแมกซ์เห็นโอกาสสร้างรายได้ผ่านการร่วมมือกับอุตสาหกรรมอื่นๆมากยิ่งขึ้น โดยนำจุดแข็งด้าน Data มาปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละอุตสาหกรรม

ยกตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับทาง Singha Corporation ในการทำระบบหลังบ้านเกี่ยวกับการจัดส่งน้ำดื่ม หรือ การทำงานร่วมกับ GMM Grammy เพื่อจัดทำ Data ด้านความปลอดภัยให้กับคอนเสิร์ตอย่าง เชียงใหม่เฟส และบิ๊กเมาท์เทนมิวสิกเฟสติวัล นอกจากนี้ Eventpop ยังร่วมมือกับ SME ในการทำ Digital Transform ให้กับบริษัท ไปจนถึงการทำระบบ Payment ให้กับบริษัทด้าน E-Commerce เป็นต้น

โดยข้อดีในการปรับตัวครั้งนี้ นอกเหนือจากเป็นการสร้างรายได้กลับเข้ามาสู่องค์กรแล้ว ยังถือเป็นการสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายฐานลูกค้าของ Eventpop ให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะแค่งานอีเวนต์เท่านั้น

 

สรุปข้อคิดที่ได้จาก KATALYST Talk EP.2

 

1. การตลาดที่ดี คือ การตลาดที่ไม่มีข้อแม้

ข้อคิดนี้มาจากวิธีการทำการตลาดของ Penguin Eat Shabu ที่ทำการตลาดให้กับแบรนด์ด้วยความเข้าใจ Insight ของลูกค้าผ่านการรับฟังปัญหาและพฤติกรรมอย่างแท้จริง จนเกิดเป็นแคมเปญแถมหม้อ, แถม Tinder หรือแม้แต่การทำแคมเปญชาบูหน้าเด้งร่วมกับคลินิก เป็นต้น

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการทำการตลาดในภาวะวิกฤต ซึ่งคุณต้นเลือกจะทำการตลาดที่แบรนด์ใหญ่ลงมาเล่นด้วยไม่ได้ ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดของ Penguin Eat Shabu ที่พลิกแพลงได้ตลอด ไม่จำกัดรูปแบบ ทำให้แคมเปญที่ปล่อยออกมานั้นประสบความสำเร็จ

 

2. ยึดกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก และถ่ายทอด Value ของธุรกิจผ่านมุมต่าง ๆ

เช่นเดียวกับข้อที่ 1 ในภาวะวิกฤตแบบนี้คุณต้นเลือกให้ความสำคัญกับ Experience ลูกค้ามากกว่า โดยเปลี่ยน Mindset จากร้านอาหารให้เป็นโรงงานผลิตอาหารที่มี Marketplace เป็นของตัวเอง จากนั้นจึงสร้างแคมเปญในการยึดจากกลุ่มเป้าหมายหลัก (Core Audience) แต่เพิ่มข้อเสนอที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของลูกค้า (Offer Solution) เพื่อสร้างประสบการณ์การทานชาบูแบบใหม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของลูกค้า

 

3. การเปิดรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ช่วยสร้างโอกาสในภาวะวิกฤต

 

สุดท้ายนี้เป็นข้อคิดที่ทางเราตกผลึกจากคุณแมกซ์ Eventpop โดยคุณแมกซ์เลือกที่จะไม่ยึดติดกับอุตสาหกรรมเดิมๆ แต่พยายามนำจุดแข็งของธุรกิจไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจอื่น ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวช่วยสร้างโอกาสให้ Eventpop ได้พบฐานลูกค้าใหม่ๆ นำพาให้ธุรกิจรอดพ้นได้ในสภาวะวิกฤตนี้

SHARE