ธุรกิจสตาร์ทอัพจะเดินต่ออย่างไรหลัง COVID-19

December 17, 2020

SHARE

ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 กระจายความเสียหายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก

แม้ในปัจจุบันสถานการณ์เริ่มผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปแล้ว และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากสามารถควบคุมได้เช่นนี้ต่อไป เราก็อาจจะผ่านพ้นมันไปได้ในเร็ววัน แต่ก็มีโอกาสที่วิกฤตนี้จะยังคงส่งผลกระทบทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยเช่นกัน

หากเป็นเช่นนั้น มาดูกันว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะสามารถเดินต่อไปอย่างไรได้บ้าง

 

ผ่าน COVID-19 แต่อาจยังไม่พ้นวิกฤต

 

อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่า หลังผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 แล้วสถานการณ์จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม เหตุการณ์ในครั้งนี้จะยังคงส่งผลต่อสตาร์ทอัพในระยะยาวอย่างแน่นอน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้บริโภคกลายเป็น new normal ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมใหม่ของพวกเขา รวมถึงความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป และ mindset ของนักลงทุนที่ยังไม่กล้าทุ่มเงินลงทุนให้กับสตาร์ทอัพในช่วงนี้ เพราะหากการเติบโตไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง นักลงทุนก็อาจเสี่ยงต่อการขาดทุนได้

สตาร์ทอัพที่ไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มองไม่ออกในภาพใหญ่และเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิด อาจจะได้รับผลจากกระแสธุรกิจทำให้ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง

วิกฤตนี้ได้ส่งสัญญาณออกมาอย่างชัดเจนว่า หลังจากนี้ธุรกิจสตาร์ทอัพจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ พัฒนาตัวเองให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การแข่งขันทางธุรกิจรูปแบบใหม่

การปรับตัวหลังสถานการณ์ COVID-19

 

มาดูกันว่า เมื่อผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 ไปแล้ว ธุรกิจสตาร์ทอัพควรจะมีแผนการปรับตัวอย่างไร

ปรับกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมนักลงทุน

จากวิกฤตที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีเพียงสตาร์ทอัพเท่านั้นที่ประสบปัญหาในด้านการเงิน แต่ยังรวมไปถึงนักลงทุนอีกด้วย

อย่างที่ทราบกันดีว่า COVID-19 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งผลกระทบนี้ส่งผลไปยังตลาดหุ้นด้วยเช่นเดียวกัน

เมื่อราคาในตลาดหุ้นตกหนัก บรรดานักลงทุนจึงหันมาถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ลดการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยกองทุน Venture Capital และสตาร์ทอัพที่เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนแบบ High Risk High Return มีแนวโน้มที่จะถูกลดเงินลงทุนค่อนข้างมาก

โดยธรรมชาติของนักลงทุนประเภท Venture Capital มักจะลงทุนเพื่อรอให้สตาร์ทอัพเติบโตจนสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วขายหุ้นทิ้งเพื่อทำกำไร จำนวนน้อยคนนักที่จะถือเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรในระยะยาว

แต่ในภาวะที่ตลาดหุ้นตกหนัก การที่สตาร์ทอัพจะสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ก็ยิ่งยากขึ้น และอาจจะต้องรอจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ โดยสตาร์ทอัพจะต้องประคับประคองกิจการให้สามารถอยู่รอดได้จนถึงวันนั้น นี่จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนลดความสนใจลงไป

ดังนั้น สตาร์ทอัพอาจจะต้องปรับ strategy ใหม่ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของนักลงทุนมากขึ้น โดยเน้นไปที่ประสิทธิภาพและความยั่งยืน (Efficiency & Sustainability) มากกว่าการเติบโตแบบก้าวกระโดดขององค์กร เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่า สตาร์ทอัพของคุณมีศักยภาพเพียงพอที่จะอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนจนสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้

บริหารการเงินโดยคำนึงถึงความเสี่ยง

แม้ว่าวิกฤตในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่องค์กรที่วางกลยุทธ์เพื่อเตรียมตัวรับมือไว้ล่วงหน้าย่อมจัดการกับปัญหาได้ดีกว่า

โดยปกติสตาร์ทอัพมักจะมุ่งเป้าหมายไปที่การขยายการเติบโตของกิจการ ในขณะที่การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) จะเป็นเรื่องรองลงมาที่ให้ความสำคัญ

ปัญหาใหญ่ที่สตาร์ทอัพต้องเผชิญนั่นก็คือ ปัญหาการขาดรายได้ ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีหลายองค์กรต้องปิดตัวลง เพราะไม่มีเงินทุนมาประคับประคองธุรกิจ หลายกิจการที่ไม่ได้เตรียมตัวไว้ต้องสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปอย่างมหาศาล หรือประสบปัญหาหนักมากจนต้องปิดกิจการเพราะขาดรายได้หล่อเลี้ยงบริษัท

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า องค์กรควรมองไปที่ปัจจัยพื้นฐานด้วยการบริหารกระแสเงินสดให้มากขึ้น เพราะหากไม่มีเงินทุนหล่อเลี้ยง องค์กรก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน

ควรพิจารณา burn rate ต่อเดือนว่า องค์กรของคุณจะสามารถอยู่รอดได้โดยไม่มีรายรับเข้ามาได้เป็นระยะเวลานานกี่เดือน และหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ จะมี solution ใดช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิกฤตจะยังไม่เกิดขึ้นก็ควรมีเงินทุนสำรองอย่างน้อย 4-6 เดือน สำหรับกรณีฉุกเฉินหรือเผชิญกับช่วงขาดรายได้ เพื่อให้อย่างน้อยก็ยังมีเงินทุนหล่อเลี้ยงบริษัทได้เพียงพอ

การบริหารการเงินโดยคำนึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นรากฐานที่ทำให้องค์กรแข็งแกร่งและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน

พาร์ทเนอร์และลูกค้าคือคนสำคัญที่ไม่ควรปล่อยมือ

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บรรดาสตาร์ทอัพต่างก็ได้เรียนรู้แล้วว่า การจะหาลูกค้า นักลงทุน หรือพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ

พื้นฐานของการทำธุรกิจไม่ได้มีแค่การซื้อมาขายไปของสินค้าหรือบริการระหว่างบริษัทกับลูกค้าเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเข้าใจ insight และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าและ stakeholders ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการเติบโตได้สูงสุดให้กับธุรกิจอีกด้วย

ในยามที่ลำบาก หากมีพาร์ทเนอร์ที่ร่วมมือกันหาทางออก ช่วยกันแก้ปัญหา ย่อมดีกว่าการที่จมอยู่กับปัญหาคนเดียว ดังนั้นการใส่ใจและให้ความสำคัญกับพาร์ทเนอร์และนักลงทุนที่มีอยู่ ย่อมส่งเสริมให้พวกเขายังคงให้การสนับสนุนธุรกิจคุณต่อไป

โดยคุณสามารถแสดงออกถึงความใส่ใจได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การส่งเจลแอลกอฮอล์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ยามจำเป็นในช่วง COVID-19 ไปให้ สิ่งเล็กๆ ที่แสดงถึงความห่วงใยเหล่านี้จะช่วยสร้างความประทับใจ และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ได้เช่นกัน

อย่าชะล่าใจ COVID-19 อาจไม่หายไป

 

จากที่ได้กล่าวไปในข้างต้นถึงการวางแผนปรับตัวหลังผ่านวิกฤตแต่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีประกาศออกมาเตือนในช่วงที่ผ่านมาว่า COVID-19 นั้น ยังมีโอกาสที่จะ “ไม่หายไป”

แม้ว่าในตอนนี้ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันออกมา แต่ด้วยความรุนแรงของโรคดังกล่าว จึงยังเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมได้เช่นกัน เนื่องจากไวรัสชนิดนี้สามารถกลายพันธุ์ได้ เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย อีกทั้งการแสดงอาการป่วยของผู้ที่ติดเชื้อแล้วก็ต้องใช้ระยะหนึ่งจึงสังเกตเห็นอาการได้อย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างเชื้อไวรัส HIV ที่โลกเราได้รู้จักและต่อสู้กับมันมาเป็นเวลานาน แม้จะสามารถป้องกันและรักษาได้ แต่โรคดังกล่าวก็ยังไม่หายไปไหน และยังคงมีการติดเชื้อของผู้ป่วยให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า เราอาจจะต้องอยู่ร่วมกับ COVID-19 ไปอีกนาน ดังนั้นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน

ดังนั้น สตาร์ทอัพต้องจับสัญญาณให้ทัน สังเกตสัญญาณเตือนของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น มองโอกาสที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตให้ออก แล้วธุรกิจของคุณจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน

แม้ในปัจจุบันหนทางจะยังยาวไกลกว่าที่สถานการณ์จะกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งเวลานี้ก็ยังคงไม่มีใครตอบได้ว่าวิกฤตนี้จะจบลงเมื่อไร แต่การรอคำตอบก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่จะทำให้สตาร์ทอัพของคุณอยู่รอด ดังนั้น การวางแผนระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคตน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำ

SHARE