แม้วงการสตาร์ทอัพในไทยจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เคียงข้างไปกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย แต่ยังขาดแรงสนับสนุน การให้ความรู้ และโอกาส นอกเหนือจากนั้นวงการสตาร์ทอัพไทยยังขาดอะไรอีกบ้างในปัจจุบันถ้าอยากจะมุ่งสู่การทำ MVP (Minimum Viable Product) ให้สำเร็จ หรือเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
คุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ผู้ดูแลโครงการ KATALYST จะมาร่วมแบ่งปันมุมมองตรงนี้ให้เราฟังกัน
คุณสุปรีชา มองว่า ปัญหาเบื้องต้นนั้นเกิดจากระบบการศึกษาของไทย หากเราลองเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคจะพบว่าธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีคนที่เรียนหรือมาจากกลุ่มวิทยาศาสตร์สูงถึง 90% เช่น ประเทศจีนที่กำลังพัฒนาตัวกลุ่มคนที่เป็นสายวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเยอะ ตรงกันข้าม กับบ้านเราที่ความต้องการเฉพาะด้านนี้มีมาก แต่จำนวนคนที่จบมาไม่เพียงพอ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ยังขาด “ทรัพยากรบุคคล” ที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง
“ตอนนี้เราประสบปัญหา 3 เรื่องด้วยกัน หนึ่งคือ คนที่จบในวิทยาศาสตร์น้อย สองคือ จบมาแล้วแต่ความรู้ที่สอนในมหาวิทยาลัยไม่ค่อยตรงกับสิ่งที่ธุรกิจต้องการใช้ บางโปรแกรมที่เขาเขียนกัน ไม่ทันสมัย และปัญหาที่สาม คือบ้านเราพอเรียนวิทยาศาสตร์ ก็เน้นวิทยาศาสตร์เท่านั้นเลย โปรแกรมเมอร์ไม่รู้เลยว่าทำธุรกิจอย่างไร ฉะนั้นพอจบมาทำ FinTech นะ ต้องทำโปรแกรมเกี่ยวกับการเงิน แต่ไม่มีความรู้เรื่องการเงินเลย แล้วจะทำ Fintech ได้ยังไง”
ซึ่งจุดนี้ คุณสุปรีชามองว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำสตาร์ทอัพ ที่จำเป็นต้องมีทั้งบุคลากรฝั่งวิทยาศาสตร์และการตลาด คนที่เข้าใจทั้งฝั่งธุรกิจและการเงิน ความหลากหลายของทีม จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมกันได้มากกว่าคนที่ถนัดงานด้านเดียวกันหมด อีกทั้งประเทศไทยยังขาดแคลนเรื่องระบบ Ecosystem เช่น ระบบกฎหมายที่ยังไม่เอื้อ หรือบางคนบอกว่าเป็นเรื่องเงินทุน ซึ่งเป็นปัจจัยรอง เพราะถ้าไอเดียดี เงินทุนจะมาเอง ทว่าจุดอ่อนสตาร์ทอัพไทย คือ หลายคนยังมองแค่ Local Market ในขณะที่ทั่วโลก มุ่งเป้าไปมองแบบ Global Market ทุกอย่างที่คิดต้องเป็นสิ่งที่ทำประโยชน์ให้แก่คนทั้งโลกได้ เช่น ประเทศจีน ที่แม้จะมีตลาดในประเทศระดับพันล้าน ก็ไม่ได้เน้น Product ที่ตอบสนองแค่คนในประเทศ แต่พยายามทดลองให้กว้างขึ้น เริ่มต้นจากประเทศเขตอาเซียน เพื่อเตรียมไปสู่สนามระดับโลก
“อีกเรื่องที่ต้องสอน คือ Pitching หลายครั้งผมมองเด็กไทยในเวทีระดับโลก เขา Pitch เก่ง ชนะหมด เพราะเราเป็นประเทศที่มีจินตนาการ มีความคิดด้านนวัตกรรมที่สูง แต่สุดท้ายในทางปฏิบัติไปต่อไม่ได้ เพราะไม่มีโรงเรียนสตาร์ทอัพที่สอนให้ทำอย่างถูกต้อง ไม่มีคนลงไปช่วยสนับสนุนให้มันเกิด”
“เราอยากหาเนื้อคู่ให้เขา” คุณสุปรีชากล่าว เนื่องจากมองว่า KATALYST จะสามารถเป็นสะพานเชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพที่ต้องการเติบโตได้มีโอกาสพบพันธมิตร คู่คิดและโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเป็นตัวกลางให้เกิดการทำงานที่สร้าง Solution ให้แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ ลูกค้าของธนาคาร หรือกลุ่มผู้บริโภคปลายทาง ได้รับผลประโยชน์สูงสุด