“Wellness Tech” ตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจใหม่ เมื่อคนหันมาใส่ใจสุขภาพ

April 1, 2021

SHARE

Wellness Tech เป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจสำหรับสายสตาร์ทอัพทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งแนวโน้มทางการตลาด พฤติกรรมของคน และการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยจาก ผลสำรวจพบว่าคนไทยกว่า 45.39% หันมาใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น ทั้งด้านการออกกำลังกายและด้านการบริโภคอาหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ Wellness Tech ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการประกอบธุรกิจ

 

Wellness Tech คืออะไร

Wellness Tech คือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคม โดยเทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาปรับใช้ตั้งแต่ด้านการเมืองไปจนถึงการทำธุรกิจ เช่น การดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ หรือการทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพเช่น วิตามินและอาหารเสริม เป็นต้น

โดยรูปแบบของ Wellness Tech สามารถแบ่งออกเป็นได้ 8 ประเภทดังนี้

 

8 รูปแบบ Wellness Tech

1. อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)

อาหารและเครื่องดื่มถือเป็น Wellness Tech ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่คำนึงถึงสุขภาพจากการบริโภค ทั้งการลดอาหารที่ไม่มีประโยชน์และเลือกบริโภคแต่ที่ดีต่อร่างกาย เช่น อาหารออร์แกนิก (Organic) หรือ พืชประเภท Non-GMO เป็นต้น

ยกตัวอย่างสตาร์ทอัพสาย Food & Beverage เช่น Daily Harvest ที่ให้บริการด้านการจัดจำหน่ายวัตถุดิบและอาหารแบบออร์แกนิก พร้อมการจัดส่งถึงหน้าบ้าน เป็นต้น

2. วิตามินและอาหารเสริม (Vitamins & Supplement)

วิตามินและอาหารเสริม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีสตาร์ทอัพอย่าง Care/of ได้พัฒนารูปแบบธุรกิจ โดยการคัดเลือกวิตามินที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล (Personalized) ผ่านการทำแบบสอบถาม จากนั้นจึงวิเคราะห์และนำเสนอวิตามินที่เหมาะสมกับลูกค้าในแต่ละคน

นอกจาก Care/of แล้ว ในไทยเองก็มี Vitaboost สตาร์ทอัพที่มีบริการดูแลสุขภาพด้วยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมส่งวิตามินให้กับผู้บริโภคแบบ Home Service ซึ่งลูกค้าไม่ต้องเลือกวิตามินเอง แต่ทาง Vitaboost จะเลือกวิตามินที่ดีและตรงตามความต้องการของร่างกายลูกค้ามาให้ถึงบ้าน

 

3. โภชนาการอาหารเพื่อการออกกำลังกาย (Active Nutrition)

สำหรับโภชนาการอาหารเพื่อการออกกำลังกาย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย ซึ่งมีความต้องการอาหารเสริมทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย ทั้งในด้านการสร้างกล้ามเนื้อ หรือเพิ่มการเผาผลาญให้กับร่างกาย โดยสตาร์ทอัพที่เข้ามามีบทบาทในด้านนี้ คือ Foodspring ซึ่งพัฒนาอาหารเสริม ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ออกกำลังกาย เช่น อาหารเสริมเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ เป็นต้น

4. เทคโนโลยีทางโภชนาการ (Nutrition Tech)

เทคโนโลยีทางโภชนาการส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ออกแบบระบบโภชนาส่วนบุคคล เพื่อให้รูปแบบการบริโภคเหมาะสมกับสุขภาพของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่น Viome บริษัทที่นำข้อมูลด้านชีวเคมีของลูกค้า มาวิเคราะห์เพื่อแนะนำเรื่องการควบคุมอาหาร เป็นต้น

5. ฟิตเนส (Fitness)

ฟิตเนสกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากเปิดบริการให้คนมาออกกำลังกายแล้ว ยังมีสตาร์ทอัพหลายรายที่เล็งเห็นช่องทางในเทรนด์นี้ อย่าง JAXJOX สตาร์ทอัพที่พัฒนาอุปกรณ์ออกกำลังกาย ด้วยแนวคิด Home Gym and Fitness Studio ผ่านระบบคำนวณความแข็งแรง และการวางโปรแกรมการฝึกเพื่อให้ทุกคนสามารถเล่นฟิตเนสได้อย่างมีประสิทธิภาพจากที่บ้าน

6. การนอนหลับ (Sleep)

การนอนหลับให้เพียงพอเป็นหนึ่งปัจจัยที่เสริมคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยมีหลายบริษัทที่เข้ามาลงทุนในด้านนี้ เช่น Sleepace สตาร์ทอัพที่นำเสนอเทคโนโลยีด้านการนอนหลับ เพื่อให้ผู้คนนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ด้วยเทคโนโลยีอย่าง Sleep Dot ที่ตรวจจับการนอน ทั้งการเคลื่อนไหวและอัตราการเต้นของหัวใจ หรือ NOX ที่ตรวจจับสภาพแวดล้อมภายในห้องนอน และสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมต่อการนอนหลับ เป็นต้น

7. สุขภาพจิต (Mental Wellness)

สุขภาพของจิตใจเป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้มีความน่าสนใจ ทั้งจากไทยและต่างประเทศ โดยในไทยมีสตาร์ทอัพที่ช่วยให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญอย่าง OOCA หรือต่างประเทศก็มีแอปพลิเคชันที่ช่วยฝึกสมาธิอย่าง Head Space หรืออุปกรณ์ติดตามอารมณ์อย่าง Woe Bot เป็นต้น

8. การท่องเที่ยวและบริการเชิงสุขภาพ (Travel & Hospitality)

สำหรับการท่องเที่ยวและการบริการในที่นี้หมายถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น การจัดโปรแกรมดูแลออกกำลังกาย พร้อมกับพักผ่อนในสถานที่ต่างๆ หรือในไทยเองก็มีการท่องเที่ยวโดยผนวกกับศาสตร์อย่างการนวดแผนไทย นวดผ่อนคลาย เป็นต้น

 

แนวโน้มของ Wellness Tech ในอนาคต

Wellness Tech เป็นที่พูดถึงมากขึ้นหลังจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) จัดตั้ง รัฐมนตรีกระทรวงความสุข ซึ่งมีนโยบายมุ่งเน้นการสร้างและรักษาความสุขของคนในประเทศ นอกจาก UAE แล้ว ทางสหภาพยุโรป (EU) ได้มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผลักดันความสุขและความสมบูรณ์ของประชาชนอีกด้วย (Economy of Wellbeing)

สำหรับด้านธุรกิจ Wellness Tech ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2019 มี Startup 97 ราย ได้รับการลงทุนมากกว่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยจากการคาดการณ์ ระหว่างปี 2020-2025 อุตสาหกรรมด้าน Wellness Tech จะเติบโตขึ้น 5.29% ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 180 ล้านล้านบาท

 

Wellness Tech กับโอกาสของ Startup ชาวไทย

ไม่เพียงแต่ Startup ต่างประเทศเท่านั้น สำหรับประเทศไทย Wellness Tech มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเพื่อสอดรับกับสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) โดยทาง Ruckdee Consultancy ได้เผยข้อมูลว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของคนสูงอายุมากเป็นอันดับ 3 ของโลก คิดเป็น 15.8% ของประชากร และมีโอกาสเพิ่มสูงถึง 37.1% ในปี 2050

สิ่งที่ยืนยันถึงโอกาสอันใกล้ของ Wellness Tech คือ มูลค่าของตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3.4% ต่อปี ตลอดระยะเวลา 5 ปี (2014-2018) ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 190,219 ล้านบาท หรือในส่วนของการท่องเที่ยวแบบ Wellness Tourism ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 7% ในช่วงปี 2013-2015 หรือกว่า 3.2 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก

จากสถิติทั้งหลายที่กล่าวมาถือเป็นสัญญาณที่ดี ในการลงทุนด้าน Wellness Tech ทั้งมูลค่าทางการตลาดและแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ Startup สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด

Summary

เมื่อสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ Wellness Tech จึงเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คน และสร้างโอกาสให้กับสตาร์ทอัพในการทำธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งทั้งมูลค่าของตลาดที่เพิ่มขึ้นและการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าอนาคตของ Wellness Tech สดใสอย่างแน่นอน

ที่มา:

SHARE