Month: February 2021

Beacon VC นำทัพลงทุนกับ Jitta สตาร์ทอัพไทยสร้าง WealthTech

Posted on by admin_beacon_2024

Beacon VC บริษัทเงินร่วมลงทุนของธนาคารกสิกรไทย ประกาศนำการลงทุนครั้งใหญ่มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาทกับ Jitta สตาร์ทอัพแถวหน้าของไทยผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการลงทุนให้ผู้ใช้งานจากทั่วโลก โดยเป็นการลงทุนระดับ Pre-Series A ของสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่มีมูลค่าสูงที่สุดในเวลานี้ ตั้งเป้าพัฒนานวัตกรรมอัจฉริยะด้านการลงทุน ผลักดัน WealthTech ในประเทศไทยให้เติบโต และขยาย Jitta สู่ตลาดต่างประเทศ

นายธนพงษ์ ณ ระนอง (ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด เปิดเผยว่า “Beacon VC เห็นแนวโน้มและศักยภาพในการเติบโตของตลาดในกลุ่มเทคโนโลยีการลงทุน (WealthTech) ซึ่งกำลังมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นในตลาดทั่วโลก ในยุคดอกเบี้ยต่ำเช่นในปัจจุบัน โดย Jitta ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้อย่างโดดเด่นที่สุด ด้วยอัลกอริทึมวิเคราะห์หุ้นที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจได้ในระยะยาวและยังมีฐานผู้ใช้งานที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือผู้ก่อตั้งและทีมงานของ Jitta ที่มุ่งมั่นสร้างเทคโนโลยีเพื่อผู้ใช้งานอย่างแท้จริง”

“โซลูชั่นของ Jitta ที่พัฒนาขึ้น นับเป็นสตาร์ทอัพจำนวนน้อยรายในประเทศไทย ที่มีศักยภาพในการสเกลหรือขยายการบริการไปในตลาดต่างประเทศทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เรามั่นใจว่า Jitta สามารถเป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยที่จะก้าวขึ้นมาสร้างปรากฏการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและผลักดันให้วงการสตาร์ทอัพไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล”

Beacon VC ถือเป็นหนึ่งในกองทุน Venture Capital ไทยที่ลงทุนในสตาร์ทอัพมากที่สุดขณะนี้ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการลงทุนไปแล้ว 5 บริษัททั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ Beacon VC มีนโยบายมุ่งเน้นลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจของธนาคาร หรือส่งเสริมความสามารถในการให้บริการของธนาคารกสิกรไทย

การลงทุนครั้งนี้นับเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงสุดสำหรับสตาร์ทอัพไทยในรอบการลงทุน Pre-Series A โดย Beacon VC ในฐานะผู้นำการลงทุนครั้งนี้จะสนับสนุนให้ Jitta ขยายและพัฒนาธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อนำนวัตกรรมการลงทุนที่เข้าใจง่ายสะดวก และมีประสิทธิภาพมาช่วยสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวอย่างยั่งยืนให้กับนักลงทุนทุกกลุ่ม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายและความมุ่งมั่นของธนาคารกสิกรไทย

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ (ที่ 3 จากขวา) ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Jitta เปิดเผยว่า “วิสัยทัศน์ของ Jitta คือช่วยให้นักลงทุนได้ประโยชน์สูงสุด เราจึงสร้างนวัตกรรมการลงทุนที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สร้างผลตอบแทนดี ด้วยวิธีการที่เรียบง่าย ดังนั้นการเข้าเป็นพันธมิตรกับ Beacon VC ที่ได้ให้การสนับสนุนทั้งเงินทุนและโอกาสทางธุรกิจครั้งนี้ จะช่วยให้ Jitta สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรม ก้าวขึ้นเป็นผู้นำบริการด้าน WealthTech ได้ โดยเป้าหมายจากนี้เราจะขยายทีมพัฒนา เพื่อเน้นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาต่อยอดนวัตกรรมอย่างเข้มข้นมากขึ้น พร้อมเปิดข้อมูลวิเคราะห์หุ้นให้ครบ 16 ประเทศ เพื่อครอบคลุม 95% ของหุ้นทั่วโลก รวมถึงเปิดบริการผลิตภัณฑ์ใหม่ และการขยายตลาดไปยังประเทศสิงคโปร์และอินเดียในปีนี้”

Jitta เป็นสตาร์ทอัพแถวหน้าของไทย เป็นผู้นำด้าน WealthTech มีทีมงานพัฒนาที่แข็งแกร่งสร้างเทคโนโลยี Big Data วิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจและความเหมาะสมในการลงทุนบนพื้นฐานการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) ตามหลักการของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ว่า

“ลงทุนในบริษัทที่ยอดเยี่ยม ในราคาที่เหมาะสม” ทั้งนี้ เทคโนโลยีจัดอันดับหุ้นน่าลงทุน Jitta Ranking ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลตอบแทนชนะดัชนีตลาด จึงถูกนำไปใช้ต่อยอดเป็นกลยุทธ์การลงทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเงินให้นักลงทุนที่ต้องการ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ เรายังเตรียมเปิดให้บริการ Jitta Wealth ซึ่งเป็นกองทุนที่บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี ลงทุนในหุ้นตามการวิเคราะห์จัดอันดับของ Jitta Ranking เน้นลงทุนระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตการจัดการกองทุนส่วนบุคคล จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยจะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในไตรมาสที่สองของปีนี้ ซึ่งมั่นใจว่า Jitta Wealth จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยอย่างมาก เพราะการใช้เทคโนโลยีทำให้สามารถบริหารกองทุนได้มีประสิทธิภาพสูงกว่า มีค่าบริหารจัดการต่ำกว่าเพียง 0.5% ต่อปี และเป็นธรรมแก่นักลงทุนมากที่สุด ด้วยการคิดค่าธรรมเนียมเพียง 10% ของกำไร อีกทั้งยังสร้างโอกาสและกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในประเทศไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา สะดวกสบายตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนอย่างดีที่สุดด้วยบริการออนไลน์” นายตราวุทธิ์ กล่าวสรุป

ข้อมูลจากรายงาน BCG Global Asset Management 2561 สรุปมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การดูแล (assets under management) สุทธิทั่วโลกในปี 2560 ว่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,500 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 12% โดยสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นประเทศที่มีสินทรัพย์ภายใต้การดูแลสูงสุด สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การดูแลสุทธิ 6 ล้านล้านบาท เติบโต 7.6% โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จึงทำให้มีความต้องการของการจัดการบริหารเงินทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ (WealthTech) เพื่อความคุ้มค่า ลดความเสี่ยง และสร้างผลกำไรที่ดีกว่าในระยะยาว ซึ่งตรงกับแนวโน้มพฤติกรรมของนักลงทุนในปัจุบัน

ทำความรู้จัก Blockchain และทิศทางที่ส่งผลต่อธุรกิจในอนาคต

Posted on by admin_beacon_2024

จากกระแสสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่ราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เทคโนโลยี Blcokchain ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการลงทุนและการนำมาปรับใช้ประโยชน์กับธุรกิจ โดยในบทความนี้ KATALYST จะไขข้อสงสัยว่า Blockchain คืออะไร และเทคโนโลยีจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไรในอนาคต

 

Blockchain คืออะไร

Blockchain คือ เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล (Data Structure) ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายผ่านการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกจะส่งต่อข้อมูลไปยังทุกคนในเครือข่าย ซึ่งยากต่อการปลอมแปลงข้อมูล เพราะทุกคนจะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ส่งผลให้ Blockchain เป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง

Blockchain เกี่ยวข้องอะไรกับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)

ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมาสกุลเงินดิจิทัลได้รับความสนใจจากผู้คนมากยิ่งขึ้น จากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั้ง Bitcoin และ Ethereum ซึ่งมีหลายปัจจัยมารองรับทั้งค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงหรือการกว้านซื้อจากนักลงทุนสถาบัน

สิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างสกุลเงินดิจิทัลกับ Blockchain คือ พื้นฐานของระบบที่ต้องเข้ารหัสผ่านคอมพิวเตอร์ โดยไม่รวมข้อมูลไว้ที่ใดที่หนึ่ง แต่จะกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายต่างๆ โดยทุกข้อมูลจะเชื่อมโยงกันทั้งระบบ

Blockchain เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลของผู้ครอบครองสกุลเงินดิจิทัล ทั้งจำนวนเงินและจำนวนครั้งในการโอน โดยกระจายข้อมูลไปให้ทุกคนในเครือข่ายรับรู้ถึงประวัติการทำธุรกรรม ส่งผลให้สกุลเงินดิจิทัลมีความโปร่งใส และปลอดภัยต่อการถูกปลอมแปลงข้อมูล

 

Blockchain ทำอะไรได้บ้างนอกจากเรื่องสกุลเงินดิจิทัล

ในปัจจุบัน Blockchain ถูกใช้งานในหลายอุตสาหกรรม ด้วยคุณสมบัติที่สามารถจัดเก็บและเชื่อมโยง ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ สำหรับตัวอย่างธุรกิจที่เริ่มนำ Blockchain มาใช้งานมีดังนี้

ธุรกิจการเงิน
สำหรับธุรกิจการเงินกับ Blockchain สามารถนำมาต่อยอดในกระบวนการทำงาน ทั้งการเสริมความปลอดภัยในด้านการจัดเก็บข้อมูล และช่วยลดขั้นตอนในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยทางธนาคาร ReiseBank AG ในประเทศเยอรมนี ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยในการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งลดระยะเวลาจาก 1-3 วัน เหลือเพียง 20 วินาทีเท่านั้น

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
Blockchain เข้ามาพัฒนาและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งด้านการทำ Smart Contract ที่ช่วยตรวจสอบข้อมูลและลดตัวกลางในการทำสัญญา ไปจนถึงการเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขาย แปลงสินทรัพย์เป็น Token และซื้อขายผ่านระบบ ICO (Inital Coin Offering) ซึ่งเป็นระบบการระดมทุนแบบดิจิทัล โดยเสนอซื้อขาย Token ผ่านระบบ Blockchain

ตัวอย่างการใช้งานจริง Elevated Returns บริษัทจัดการสินทรัพย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการทำ Tokenization Real Estate Assest ด้วยการเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์เป็น Token โดยเริ่มต้นจากโครงการขายรีสอร์ตที่รัฐโคโลราโด (Colorado) ด้วยมูลค่ากว่า 18 ล้านอีเธอเรียม (Ethereum) หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท

ธุรกิจการแพทย์
ในด้านธุรกิจการแพทย์ Blockchain เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการข้อมูล ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายประวัติคนไข้ ทำให้การส่งต่อการรักษา (Refer) สะดวกมากยิ่งขึ้น หรือการสอนหุ่นยนต์กู้ภัย ที่สามารถสอนหุ่นยนต์เพียงตัวเดียว แต่สามารถใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการกระจายความรู้ไปสู่หุ่นยนต์ตัวอื่นๆ ได้ ทำให้ลดระยะเวลาการป้อนคำสั่งให้กับหุ่นยนต์ทุกตัว

ตัวอย่างการใช้ Blockchain ในธุรกิจการแพทย์จริง เช่น Patientory สตาร์ทอัพสายสุขภาพนำ Blockchain มาใช้ในการเก็บข้อมูลสำคัญทางการแพทย์ของผู้ป่วย หรือ Farmatrust สตาร์ทอัพจากลอนดอนที่ใช้ Blockchain ในการตรวจสอบที่มาของยาแต่ละชนิด เพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลของยา และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

 

วิธีการนำ Blockchain มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่หลายเจ้า เริ่มหันมาใช้ Blockchain ในการดำเนินงาน ซึ่งแท้จริงแล้ว Blockchain ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่จำกัดเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่สามารถปรับใช้กับธุรกิจทั่วไปได้ด้วย โดยตัวอย่างการใช้งาน Blockchain ในธุรกิจมีดังนี้

 

1. พัฒนารูปแบบการทำสัญญา

Blockchain สามารถนำมาปรับใช้ในการทำสัญญาระหว่างธุรกิจ ผ่านการทำ Smart Contract หรือสัญญาดิจิทัล โดยสัญญาดังกล่าวจะเป็นรูปแบบที่สามารถดำเนินงานได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง นอกจากนี้ Smart Contract ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรพนักงานในการตรวจสอบเอกสาร โดยข้อมูลจะถูกตรวจสอบผ่านเครือข่าย ทำให้ลดระยะเวลาและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

2. ลดระยะเวลาและต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน

ปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเป็นเวลานาน และต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันทางการเงินทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น หากปรับมาใช้ Blockchain ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ด้วยระบบ Peer to Peer ที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าว นอกจากนี้ Blockchain ยังสามารถบันทึกและติดตามที่มาของเงินได้อีกด้วย ทำให้ลดขั้นตอนการตรวจสอบที่มาของเงิน ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดเวลาและต้นทุนในการทำธุรกรรม

 

3. รู้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้ามากขึ้น

ในอนาคตที่มีแนวโน้มการใช้งาน Blockchain มากขึ้น โดยในการทำธุรกรรม ผู้คนจะมี Digital ID ของตัวเอง และ Digital ID นี้เอง จะช่วยให้ธุรกิจสามารถทราบพฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมที่เกิดจาก Blockchain ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นพฤติกรรมลูกค้าที่พบจึงเป็นพฤติกรรมที่แท้จริง

การที่เราทราบข้อมูลเชิงลึกที่แท้จริง ทำให้เราสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านการตลาดไปจนถึงการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น

 

Summary

Blockchain คือ หนึ่งในเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเข้ามาช่วยและอาจเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับ API และ Big Data โดย Blockchain นำมาซึ่งโอกาสทั้งในด้านการลดระยะเวลาและต้นทุน ไปจนถึงการทำการตลาด โดยในปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่เริ่มนำ Blockchain มาใช้งาน ซึ่งผลลัพธ์ก็พิสูจน์แล้วว่า Blockchain สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริง ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น แต่ Startup ก็สามารถนำ Blockhain เข้ามาใช้ในการพัฒนา Product & Service ได้เช่นเดียวกัน

KATALYST Talk EP.2: (เกือบจะ) Fail แล้วไง

Posted on by admin_beacon_2024

เมื่อคืนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทาง KATALYST ได้จัดงาน KATALYST Talk EP.2 โดยเชิญคุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ (แมกซ์) นายกสมาคม Thai Tech Startup Association (TTSA) และ CEO Eventpop พร้อมกับแขกรับเชิญพิเศษคุณธนพันธ์ วงศ์ชินศรี (ต้น) ผู้ก่อตั้งร้าน Penguin Eat Shabu มาพูดคุยกันในหัวข้อ “(เกือบจะ) fail แล้วไง”

 

ผลกระทบของธุรกิจจากวิกฤต Covid-19

คุณแมกซ์ได้แชร์ผลกระทบของ Eventpop ที่ได้รับจากวิกฤต COVID-19 โดยเดิมทีธุรกิจของ Eventpop คือ การจัดอีเวนต์ออฟไลน์ โดยมีระบบขายและเว็บไซต์คอยช่วยให้ผู้จัดอีเวนต์ให้ทำงานสะดวกขึ้น แต่เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ในช่วงดังกล่าว งานอีเวนต์นั้นถูกยกเลิกหมด ส่งผลให้ทาง Eventpop ขาดรายได้หลักกว่า 95%

ซึ่งคุณต้น Penguin Eat Shabu ก็ประสบปัญหาด้านธุรกิจไม่ต่างกัน เพราะรายได้หลักที่มี คือการขายอาหาร และด้วยประเภทของอาหารอย่างชาบูที่ส่วนใหญ่จะเน้นทานที่ร้าน แต่เมื่อขายอาหารที่ร้านไม่ได้ ทำให้คุณต้นก็ต้องหาวิธีการปรับตัวเช่นเดียวกัน และถึงแม้ว่าจะลองมาขายแบบ Food Delivery แต่ก็ยังประสบปัญหาด้านการจัดการระบบการขาย ซึ่งเกิดเป็นกระแสที่ไม่ค่อยดีนักในโลกออนไลน์

 

มองมุมต่าง หาโอกาส และการปรับตัว คือการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ

จากกระแสเรื่องระบบการขายของ Penguin Eat Shabu ทำให้คุณแมกซ์มองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ ผ่านการยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาระบบการขายให้กับ Penguin Eat Shabu ด้วยการนำระบบการขายที่ตัวเองมีผนวกกับสินค้าของคุณต้น จะสามารถนำพาธุรกิจของทั้งสองคนรอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้

 

Eventpop กับโอกาสที่มาจากการปรับตัว

การปรับตัวของ Eventpop ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ไขปัญหา แต่เป็นการสร้างโอกาสไปในตัว หลังจากการปรับปรุงระบบหลังบ้านให้รองรับธุรกิจ Food Delivery ส่งผลให้คุณแมกซ์เห็นโอกาสสร้างรายได้ผ่านการร่วมมือกับอุตสาหกรรมอื่นๆมากยิ่งขึ้น โดยนำจุดแข็งด้าน Data มาปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละอุตสาหกรรม

ยกตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับทาง Singha Corporation ในการทำระบบหลังบ้านเกี่ยวกับการจัดส่งน้ำดื่ม หรือ การทำงานร่วมกับ GMM Grammy เพื่อจัดทำ Data ด้านความปลอดภัยให้กับคอนเสิร์ตอย่าง เชียงใหม่เฟส และบิ๊กเมาท์เทนมิวสิกเฟสติวัล นอกจากนี้ Eventpop ยังร่วมมือกับ SME ในการทำ Digital Transform ให้กับบริษัท ไปจนถึงการทำระบบ Payment ให้กับบริษัทด้าน E-Commerce เป็นต้น

โดยข้อดีในการปรับตัวครั้งนี้ นอกเหนือจากเป็นการสร้างรายได้กลับเข้ามาสู่องค์กรแล้ว ยังถือเป็นการสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายฐานลูกค้าของ Eventpop ให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะแค่งานอีเวนต์เท่านั้น

 

สรุปข้อคิดที่ได้จาก KATALYST Talk EP.2

 

1. การตลาดที่ดี คือ การตลาดที่ไม่มีข้อแม้

ข้อคิดนี้มาจากวิธีการทำการตลาดของ Penguin Eat Shabu ที่ทำการตลาดให้กับแบรนด์ด้วยความเข้าใจ Insight ของลูกค้าผ่านการรับฟังปัญหาและพฤติกรรมอย่างแท้จริง จนเกิดเป็นแคมเปญแถมหม้อ, แถม Tinder หรือแม้แต่การทำแคมเปญชาบูหน้าเด้งร่วมกับคลินิก เป็นต้น

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการทำการตลาดในภาวะวิกฤต ซึ่งคุณต้นเลือกจะทำการตลาดที่แบรนด์ใหญ่ลงมาเล่นด้วยไม่ได้ ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดของ Penguin Eat Shabu ที่พลิกแพลงได้ตลอด ไม่จำกัดรูปแบบ ทำให้แคมเปญที่ปล่อยออกมานั้นประสบความสำเร็จ

 

2. ยึดกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก และถ่ายทอด Value ของธุรกิจผ่านมุมต่าง ๆ

เช่นเดียวกับข้อที่ 1 ในภาวะวิกฤตแบบนี้คุณต้นเลือกให้ความสำคัญกับ Experience ลูกค้ามากกว่า โดยเปลี่ยน Mindset จากร้านอาหารให้เป็นโรงงานผลิตอาหารที่มี Marketplace เป็นของตัวเอง จากนั้นจึงสร้างแคมเปญในการยึดจากกลุ่มเป้าหมายหลัก (Core Audience) แต่เพิ่มข้อเสนอที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของลูกค้า (Offer Solution) เพื่อสร้างประสบการณ์การทานชาบูแบบใหม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของลูกค้า

 

3. การเปิดรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ช่วยสร้างโอกาสในภาวะวิกฤต

 

สุดท้ายนี้เป็นข้อคิดที่ทางเราตกผลึกจากคุณแมกซ์ Eventpop โดยคุณแมกซ์เลือกที่จะไม่ยึดติดกับอุตสาหกรรมเดิมๆ แต่พยายามนำจุดแข็งของธุรกิจไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจอื่น ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวช่วยสร้างโอกาสให้ Eventpop ได้พบฐานลูกค้าใหม่ๆ นำพาให้ธุรกิจรอดพ้นได้ในสภาวะวิกฤตนี้