สหภาพยุโรปได้เริ่มดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามวิสัยทัศน์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือใน ค.ศ. 2050 โดยหนึ่งในโครงการริเริ่มที่เป็นที่รู้จักกันดี คือมาตรการการกำหนดราคาคาร์บอนสำหรับบริษัทที่ประกอบธุรกิจในสหภาพยุโรปผ่านระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ EU Emission Trading System (EU ETS) ซึ่งสร้างผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์นับตั้งแต่ปี 2548 มาตรการดังกล่าวเป็นการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับแต่ละกิจการ โดยผู้ผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าจำนวนที่ระบุไว้สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อให้ผู้ผลิตรายอื่นได้ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ส่งผลให้ผู้ผลิตในสหภาพยุโรปเกิดความเสียเปรียบ จนนำมาซึ่งการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดน้อยกว่า ทั้งนี้ ในปี 2562 สหภาพยุโรปได้กำหนด European Green Deal เพื่อเร่งดำเนินการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสร้างความยั่งยืน โดยแผนการปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรปประกอบด้วยกลยุทธ์และมาตรการที่หลากหลาย โดยหนึ่งในนั้นคือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Cross-Border Carbon Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยให้สหภาพยุโรปสามารถก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเป็นศูนย์ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรปจากค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่า
CBAM มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้เสียทั่วโลกอย่างยิ่ง มาตรการนี้แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ของสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ CBAM อย่างละเอียด ตั้งแต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท กรอบระยะเวลาการปรับใช้มาตรการ วิธีการคำนวณการปล่อยมลพิษภายใต้มาตรฐานของ CBAM รวมถึงวิธีการที่ผู้ผลิตสามารถนำมาใช้วัดผล ลด และทำธุรกรรมชดเชยการปล่อยมลพิษจากการประกอบธุรกิจในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้
อย่างไรก็ตาม CBAM ไม่เพียงสร้างความท้าทายให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังสร้างโอกาสให้กับองค์กรและหน่วยงานหลายภาคส่วน เมื่อผู้ผลิตกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือการเปลี่ยนผ่านสู่ CBAM สถาบันการเงินก็เป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่จะช่วยเหลือสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ การทำงานร่วมกันเช่นนี้จะเร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่สะอาดและยั่งยืนมากขึ้น ในบทความนี้ เราจึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาร่วมเดินทางไปถอดรหัส CBAM และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางสู่ยุคแห่งมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนกัน
CBAM คืออะไร
CBAM เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ European Green Deal ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้สหภาพยุโรปเป็นทวีปแรกที่บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2593 ภายหลังจากที่ได้กำหนดเป้าหมายจูงใจนี้ สหภาพยุโรปได้กำหนดหลักเกณฑ์มาตรการภาษีคาร์บอนหลายประการสำหรับผู้ผลิตในสหภาพยุโรป และได้ประกาศมาตรการ CBAM เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและขจัดข้อได้เปรียบด้านราคาของผลิตภัณฑ์นำเข้าจากภูมิภาคที่มาตรการด้านคาร์บอนเข้มงวดน้อยกว่า กล่าวโดยสรุป CBAM เป็นมาตรการการเก็บภาษีคาร์บอนโดยสหภาพยุโรป จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงในกระบวนการผลิต โดยมีค่าเทียบเท่ากับภาษีคาร์บอนที่เก็บจากสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในสหภาพยุโรปสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่ากัน
ในระยะเริ่มต้น ผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปมีหน้าที่เพียงรายงานการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปของมาตรการนี้ ผู้นำเข้าจะต้องซื้อ CBAM Certificate เพื่อชดเชยส่วนต่างระหว่างค่าคาร์บอนที่ผู้ผลิตในสหภาพยุโรปต้องชำระกับค่าคาร์บอนที่ผู้ผลิตต่างชาติได้ชำระในประเทศต้นทาง ทั้งนี้ ผู้นำเข้าจะต้องเก็บข้อมูลต่อไปนี้เพื่อการปฏิบัติตามกรอบมาตรการที่จะถูกบังคับใช้
1. ปริมาณสินค้านำเข้าทั้งหมด
2. ค่าคาร์บอนที่ชำระแล้วในประเทศต้นทางสำหรับสินค้าดังกล่าว
3. ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมตามจริงของผลิตภัณฑ์นำเข้า
ขอบเขตและกรอบเวลาของ CBAM
ระยะเปลี่ยนผ่านของ CBAM มีผลบังคับใช้ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – ธันวาคม 2568 โดยในระยะนี้ ผู้นำเข้ามีหน้าที่เพียงรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าดังที่กำหนดข้างต้นเท่านั้น แต่ยังไม่จำเป็นต้องรับรองข้อมูลหรือซื้อ CBAM Certificate ขอบเขตของผลิตภัณฑ์ที่รวมอยู่ในระยะแรกคือธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณความเข้มข้นสูง 6 ภาคส่วน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ ซีเมนต์ อลูมิเนียม ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า ไฟฟ้า และไฮโดรเจน
CBAM จะเข้าสู่การบังคับใช้ระยะถาวรในเดือนมกราคม ปี 2569 โดยผู้นำเข้าจะต้องดำเนินการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลที่จะนำส่งไปให้ผู้รับรองที่ได้รับอนุญาตรับรองข้อมูล ตลอดจนซื้อ CBAM Certificate สำหรับส่วนต่างค่าคาร์บอนที่ได้ชำระแล้วในประเทศต้นทาง ทั้งนี้ สหภาพยุโรปจะนำข้อมูลที่ได้รับจากช่วงเปลี่ยนผ่านมาทบทวนเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการเพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้ CBAM โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อาจถูกรวมอยู่ในระยะที่สอง ได้แก่ สารเคมีอินทรีย์ พลาสติก และแอมโมเนีย นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังมีแผนที่จะเพิ่มขอบเขตของ CBAM ให้ครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สำคัญอีกหลายประเภท โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปี 2573
รายละเอียดการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ CBAM
ขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวปฏิบัติ CBAM จะคล้ายคลึงกับขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดโดยมาตรฐานการจัดทำบัญชีและการรายงานก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กร (GHG Protocol) ซึ่งจะแบ่งขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ที่มา: Zevero
- ขอบเขตที่ 1 หมายถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานหรือจากทรัพย์สินของบริษัทเองโดยตรง เช่น การใช้พลังงานฟอสซิลในการผลิตหรือการขนส่ง
- ขอบเขตที่ 2 หมายถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัททางอ้อมอันเนื่องมาจากกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศหรืออุปกรณ์ให้แสงสว่าง
- ขอบเขตที่ 3 หมายถึง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่บริษัทอาจปล่อยออกมาจาก Value Chain เช่น การให้บริการด้านการเงินแก่ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการซื้ออุปกรณ์สำนักงานที่อาจปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างกระบวนการผลิต
ที่มา: คณะกรรมาธิการยุโรป
โดยสรุป การปล่อยมลพิษทางตรงตามมาตรการ CBAM คือการปล่อยมลพิษในขอบเขตที่ 1 ตาม GHG Protocol ซึ่งรวมถึงก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการผลิตจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง หรือการปล่อยมลพิษที่เป็นผลพลอยได้จากปฏิกิริยาทางเคมี หรือกระบวนการสร้างความร้อนและความเย็นที่จำเป็นต่อการผลิต ทั้งนี้ การปล่อยมลพิษอาจคำนวณได้จากการปล่อยมลพิษโดยตรงหรือจากค่าปัจจัยการปล่อยมลพิษ (Emission Factor)
การปล่อยมลพิษทางอ้อมภายใต้ CBAM ครอบคลุมการปล่อยมลพิษขอบเขตที่ 2 และ 3 ตาม GHG Protocol ทั้งนี้ ข้อมูลขอบเขตที่ 2 ที่ผู้นำเข้าจะต้องรายงานตามมาตรการ CBAM จะครอบคลุมการใช้ไฟฟ้าระหว่างกระบวนการผลิตเท่านั้น เช่น การใช้ไฟฟ้าเพื่อก่อให้เกิดแสงสว่าง หรือเครื่องปรับอากาศของโรงงาน เป็นต้น สำหรับขอบเขตที่ 3 ซึ่งเป็นการปล่อยมลพิษขนาดใหญ่ที่สุดและวัดได้ยากที่สุดนั้น CBAM กำหนดให้ผู้นำเข้ารายงานการปล่อยมลพิษจากการผลิตวัตถุดิบต้นทางที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการควบคุมของ CBAM เท่านั้น (ซีเมนต์ เหล็ก/เหล็กหล่อ อลูมิเนียม ไฮโดรเจน และปุ๋ย) ในระยะเริ่มต้นนี้ ผู้ผลิตยังไม่ต้องเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมที่มีความซับซ้อน เช่น การเดินทางของพนักงาน หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ของลูกค้า ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวัดมลพิษสำหรับแต่ละภาคส่วนในแนวปฏิบัติของคณะกรรมาธิการยุโรปได้ ที่นี่
CBAM: กำหนดอนาคตด้านการค้าและความยั่งยืน – นัยยะต่อเศรษฐกิจประเทศไทย
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกเหล็กมูลค่า 201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอลูมิเนียม 111 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปยังประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป ถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกนี้จะคิดเป็นเพียง 1.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 2565 ก็ตาม แต่ขอบเขตของ CBAM ที่ขยายออกมาครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น พลาสติก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น การส่งออกพลาสติกซึ่งมีมูลค่า 676 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 2.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ผู้ส่งออกกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้างต้นทุกรายมีหน้าที่รายงานการปล่อยมลพิษต่อสหภาพยุโรป ยกเว้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 150 ยูโร หรือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้งานในกองทัพ ทั้งนี้ หลังจากระยะเปลี่ยนผ่าน ผู้ส่งออกชาวไทยจะต้องปฏิบัติตามกระบวนการที่เพิ่มขึ้น ทั้งการส่งรายงานให้กับผู้รับรองที่ได้รับอนุญาตเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และการชำระค่าภาษีคาร์บอนสุทธิจากจำนวนที่ได้จ่ายไปในประเทศต้นทาง
ความเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจของผู้ส่งออกชาวไทย
จากข้อมูลของ Statista ราคาคาร์บอนในระบบ EU ETS ที่จะถูกนำมาใช้เป็นราคาคาร์บอนอ้างอิงในระยะเริ่มต้นนั้นมีมูลค่าผันแปรระหว่าง 80-100 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 โดยคาดการณ์ว่าราคาจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อกลไก CBAM ถูกนำมาใช้อย่างเต็มระบบจากความต้องการซื้อสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น ในช่วงที่สิทธิ์การปล่อยแบบไม่มีค่าใช้จ่ายในระบบ EU ETS ค่อยๆ ถูกปรับลดลง เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ CBAM อย่างสมบูรณ์ โดยวิธีการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงข้อเสียเปรียบทางเศรษฐกิจของผู้ส่งออกชาวไทยคือการคำนวณความแตกต่างของค่าใช้จ่ายในการปล่อยมลพิษต่อตันของผลิตภัณฑ์เทียบระหว่างประเทศไทยและผู้ส่งออกที่เป็นคู่แข่งรายอื่น ซึ่งสามารถดูตัวอย่างการเปรียบเทียบภาษีคาร์บอนของผลิตภัณฑ์เหล็กและอลูมิเนียมปฐมภูมิได้ในตารางต่อไปนี้
|
เหล็ก: ประเทศไทย |
เหล็ก: ทั่วโลก |
เหล็ก: สหภาพยุโรป |
อลูมิเนียมปฐมภูมิ: ประเทศไทย |
อลูมิเนียมปฐมภูมิ: ทั่วโลก |
อลูมิเนียมปฐมภูมิ: สหภาพยุโรป |
1ค่าคาร์บอน (เหรียญสหรัฐฯ/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) |
96.3 |
96.3 |
96.3 |
96.3 |
96.3 |
96.3 |
2การปล่อย (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ตัน) |
1.55 |
1.40 |
1.14 |
12.24 |
12.50 |
6.20 |
ภาษีคาร์บอน (1*2) (เหรียญสหรัฐฯ) |
149.48 |
134.82 |
109.78 |
1,178.32 |
1,203.75 |
597.06 |
เปรียบเทียบกับประเทศไทย (%) |
– |
-10% |
-27% |
– |
2% |
-49% |
เมื่อพิจารณาข้อมูลในตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่าผู้ส่งออกชาวไทยมีความเสียเปรียบเนื่องจากมีภาระค่าภาษีคาร์บอนที่สูงกว่า และความเสียเปรียบนี้ยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผู้ผลิตในสหภาพยุโรป ในท้ายที่สุด ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้ผู้ซื้อชาวยุโรปต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้นหรือผู้ส่งออกจะมีกำไรที่ลดลงจากการรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ไว้เอง ผลกระทบนี้มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงการส่งออกสินค้าตาม CBAM ของไทยไปยังประเทศอื่นนอกภูมิภาคยุโรปในระยะสั้นถึงระยะกลางหากมีผู้ซื้อสินค้ารายอื่น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตจำเป็นต้องค่อยๆ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของตนให้ดีขึ้น รวมถึงพิจารณาเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากอีกไม่นานประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็จะบังคับใช้กลไกเช่นเดียวกันนี้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ความก้าวหน้าในปัจจุบันของหน่วยงานภาครัฐ
เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญครั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ร่วมมือกันจัดสัมมนาเกี่ยวกับมาตรการ CBAM โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและรวบรวมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับข้อวิตกกังวลในระยะเริ่มต้นของการบังคับใช้ CBAM ผู้ผลิตชาวไทยได้ขอรับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับเทคโนโลยีการรายงาน การอนุญาตให้ใช้ผู้รับรองรายงานชาวไทยเพื่อลดต้นทุน และผ่อนปรนการลงโทษในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาดในการรายงานโดยไม่ได้เจตนาในระยะปรับตัว ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ร่วมหารือกับผู้แทนสหภาพยุโรปเพื่อหาทางออกที่เป็นไปได้ในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย โดยเราคาดว่าจะทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการเจรจาในอนาคตอันใกล้นี้
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยชั้นนำ 5 แห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นหลักสูตรใหม่เพื่อสร้างอาชีพด้านความยั่งยืน โดยเน้นส่งเสริมความรู้เฉพาะทางด้านการจัดการการปล่อยคาร์บอน และการใช้งานคาร์บอนเครดิต โครงการทางด้านการศึกษามีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ CBAM ของภาคธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
นอกเหนือจากโครงการทางด้านการศึกษาแล้ว องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสำหรับการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระบบดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตชาวไทยในการรายงานการปล่อยคาร์บอนตามกฎเกณฑ์ของ CBAM โดยปัจจุบัน การพัฒนาระบบอยู่ในขั้นของการทำ Pilot Testing โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมทดสอบหลายบริษัทด้วยกัน เมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้น โครงการนี้จะช่วยลดต้นทุนของผู้ส่งออกไทยในการรายงานได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
มุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนผ่าน: ความท้าทายและโอกาสสำหรับผู้ผลิตและสตาร์ทอัพ
เพื่อคงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมหลัก 3 ประการ ได้แก่ การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกต้อง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินการเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้แม้จะมีความท้าทายในตัวเอง แต่ก็เอื้อประโยชน์ให้สตาร์ทอัพได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาได้
1. การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกต้อง
การวัดปริมาณการปล่อยมลพิษอย่างถูกต้องเปรียบเสมือนรากฐานของ CBAM และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาไร้กาลเวลาของปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker) ที่กล่าวไว้ว่า “คุณไม่สามารถบริหารจัดการสิ่งที่วัดค่าไม่ได้” ทั้งนี้ สตาร์ทอัพทั่วโลกกำลังแก้ไขปัญหานี้ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมในการวัดค่าคาร์บอนด้วย Carbon Accounting System ผู้ที่มีบทบาทในการจัดทำ Carbon Accounting System ที่มีชื่อเสียงในภูมิภาค เช่น Terrascope, RIMM, Unravel Carbon ผู้ให้บริการเหล่านี้ได้เริ่มพัฒนาระบบเพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายนี้ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหานี้มีความซับซ้อน เนื่องจากมีหลายแง่มุมที่ต้องคำนึงถึง ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพความท้าทายที่ชัดเจนมากขึ้น เราจะไปดูอุปสรรคที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญในปัจจุบันกัน
1.1 ปัญหาเรื่องความไม่ถูกต้องของข้อมูล ซึ่งส่วนมากเกิดจากความท้าทายในการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขอบเขตที่ 3 อย่างถูกต้อง และความท้าทายในเรื่องมาตรฐานของข้อมูลที่มาจากหลายแหล่งที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์ ผู้ผลิตที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การรวมฟังก์ชันเหล่านี้เข้าไว้ใน Carbon Accounting System จะช่วยปรับปรุงความถูกต้องและลดปัญหาข้อมูลไม่เป็นมาตรฐานได้
1.1.1 การคำนวณคาร์บอนโดยใช้ Emission Factor (EF) – ปลดล็อคศักยภาพด้วยระดับความละเอียดของข้อมูล ปัจจัยสำคัญพื้นฐานของการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกต้องคือความละเอียดและความพร้อมใช้ของข้อมูล Emission Factor เป็นค่าเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถนำมาใช้ในการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้ เช่น จำนวนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต หรือกรรมวิธีการผลิตที่ผู้ผลิตเลือกใช้
1.1.2 การบูรณาการตลอด Supply Chain – การเชื่อมโยงผู้เล่นในระบบนิเวศเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างถูกต้อง ผู้ผลิตต้องติดตามวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ไปจนหมดอายุการใช้งาน โดยขยายขอบเขตออกไปนอกเหนือจากโรงงานของผู้ผลิตเองเพื่อให้ครอบคลุมไปถึงผู้ขายด้วย การบูรณาการข้อมูลใน Supply Chain นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากระบบสามารถรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้ขายได้ทุกราย และมีข้อมูลครบถ้วน ระบบจะช่วยให้การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขอบเขตที่ 3 ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตเห็นภาพองค์รวม Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์
1.1.3 การจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain – เพิ่มความถูกต้องของข้อมูล ความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความไม่ถูกต้องมักจะเกิดจากการขาดความเชื่อมั่นและความโปร่งใส การใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อเก็บข้อมูลคาร์บอนจะช่วยยกระดับความถูกต้องและความโปร่งใสของข้อมูลได้ การจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนโดยใช้ Blockchain จะบันทึกข้อมูลพร้อมกับเวลา แล้วเชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนไปยัง Decentralized Network การดำเนินการเช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ข้อมูลที่รายงานมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ยังทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถติดตามแหล่งที่มาของการปล่อยคาร์บอนได้อีกด้วย
1.2 ปัญหาการใช้แรงงานจำนวนมาก การวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบันเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูงและมีแนวโน้มจะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
1.2.1 การบูรณาการระบบและอุปกรณ์ – ศักยภาพของระบบอัตโนมัติ หนึ่งในความท้าทายของการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบันคือเป็นกระบวนการที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งมักจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและมีแนวโน้มจะเกิดความผิดพลาด ด้วยเหตุนี้ การเชื่อมโยง Carbon Accounting System เข้ากับเครื่องมือ เช่น IoT (เครื่องมือที่เชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต) ERP (ระบบบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร) หรือเครื่องจักรจะทำให้ธุรกิจสามารถปลดล็อคศักยภาพในการดึงข้อมูลตามกิจกรรมที่ดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการต่อยอดสู่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติที่จะช่วยลดการใช้แรงงานคน ส่งผลให้กระบวนการมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
1.2.2 Optical Character Recognition (OCR) – จัดระเบียบทั้งเอกสารที่เป็นกระดาษและไฟล์ดิจิทัลได้อย่างราบรื่น การเก็บเอกสารที่เป็นกระดาษถือเป็นความท้าทายของการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีมาอย่างยาวนาน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้คนในการป้อนข้อมูล อย่างไรก็ตาม OCR จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ ด้วยการเปลี่ยนตัวอักษรบนเอกสารรูปแบบกระดาษให้เป็นรูปแบบดิจิทัล วิธีนี้จะนำไปสู่กระบวนการคำนวณการปล่อยมลพิษที่มีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ การแปลงเอกสารเหล่านี้ให้เป็นรูปแบบดิจิทัลจะทำให้กระบวนการทั้งหมดรวดเร็ว ถูกต้อง และคุ้มค่าต้นทุนมากขึ้น
2. การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เมื่อวัดปริมาณการปล่อยมลพิษได้อย่างถูกต้องแล้ว ผู้ผลิตจะต้องลดมลพิษในระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อลดการจ่ายภาษีคาร์บอนด้วย อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนี้ยังมีอุปสรรคในการดำเนินงานต่าง ๆ ได้แก่ ข้อจำกัดด้านเทคนิค และข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ
2.1 ข้อจำกัดด้านเทคนิค การแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านเทคนิคเพื่อลดมลพิษนั้นจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์หลายด้าน ผู้ผลิตต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การค้นหาวัสดุทางเลือกที่คงทนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานอย่างมากจำเป็นต้องหาแหล่งจ่ายพลังงานหมุนเวียน และจำเป็นต้องลดการปล่อยมลพิษในกระบวนการผลิตที่ปล่อยมลพิษสูง เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายนี้ หลายหน่วยงานมีการวิจัยและศึกษาเพื่อค้นหาทางออกที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยมลพิษในหลาย ๆ ด้าน
2.2.1 วัสดุจากนวัตกรรม – เพื่อการใช้วัสดุที่ยั่งยืนกว่า ปัจจุบันผู้ผลิตมีทางเลือกที่มากขึ้น เช่น โครงการริเริ่มเพื่อพัฒนา Inert anode สำหรับการหลอมอลูมิเนียมของ ELYSIS หรือการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ของ HARBOR Aluminum วัสดุที่ผลิตจากนวัตกรรมเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อลดการปล่อยมลพิษและพัฒนาอุตสาหกรรมให้ยั่งยืน
2.2.2 การลดก๊าซเรือนกระจก – ป้องกันการปล่อยมลพิษที่แหล่งกำเนิด อีกวิธีการหนึ่งที่มีการคิดค้นขึ้น คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างกระบวนการผลิต โครงการริเริ่มต่างๆ เช่น การดำเนินการของ Analytics Shop เพื่อผลิตตัวยับยั้งการปลดปล่อยไนโตรเจน (Nitrification Inhibitors) ในปุ๋ย และความพยายามของ Hybrit ในการใช้ไฮโดรเจนสำหรับกระบวนการผลิตสินแร่เหล็กแทนการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้
2.2.3 การบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น – การดำเนินงานอัจฉริยะ บริษัทอย่าง AltoTech, TIE-Smart และ Zenatix มีการให้บริการเทคโนโลยีอาคารอัจฉริยะเพื่อควบคุมการบริหารจัดการการใช้พลังงานภายในอาคารให้เหมาะสมและลดการปล่อยมลพิษ ส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยั่งยืน
2.2.4 การใช้พลังงานหมุนเวียน – ทดแทนพลังงานขาดแคลน เราจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพียง 11% เท่านั้น ซึ่งยังมีค่าต่ำกว่าของสหภาพยุโรปที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเกือบ 40% ดังนั้น ประเทศไทยยังสามารถปรับปรุงการใช้พลังงานได้อีกมาก ทั้งนี้ บริษัทต่าง ๆ ที่มีการให้บริการพลังงานหมุนเวียน เช่น Clover Power และ First Korat Wind จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มการขาดแคลนพลังงานหมุนเวียนได้
2.2.5 เทคโนโลยีการดักจับก๊าซเรือนกระจก – การดักจับมลพิษ โรงงานผลิตเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น การดักจับการปล่อยมลพิษเหล่านี้ที่แหล่งกำเนิดจะทำให้เราสามารถป้องกันไม่ให้มลพิษถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศจนก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้ ทั้งนี้ เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Carbon Capture, Usage, and Storage (CCUS) โดย Technip และ Linde ควบคู่กับเทคโนโลยี Direct Air Capture (DAC) ที่พัฒนาโดยบริษัทต่าง ๆ เช่น Carbon Engineering และ Climeworks ล้วนมีบทบาทสำคัญในการดักจับและลดการปล่อยมลพิษที่แหล่งกำเนิดโดยตรง
2.2 ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจมักมาพร้อมการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ที่มีความสะอาดมากขึ้น ข้อจำกัดนี้ถือเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับธุรกิจที่พยายามลด Carbon Footprint ตัวอย่างเช่น ต้นทุนการลงทุนแรกเริ่มที่มีมูลค่าสูง ต้นทุนการพัฒนาทักษะของแรงงาน และต้นทุนค่าเสียโอกาสจากช่วงที่โรงงานต้องหยุดทำงาน อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตมีทางเลือกหลากหลายในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน
2.2.1 Sustainable Finance – การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่วงเปลี่ยนผ่าน กลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญคือการใช้ทางเลือก Sustainable Finance ผู้ให้บริการต่าง ๆ เช่น GoParity และ BluePath Finance มีบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเงินทุนที่จำเป็นเพื่อลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด ทั้งนี้ การดำเนินการเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนในวงกว้างด้วย
2.2.2 การวิเคราะห์ข้อมูลและเครื่องมือเพื่อปรับค่าการปล่อยมลพิษอย่างเหมาะสม – เพิ่มผลตอบแทนสูงสุดจากการลงทุนเพื่อลดผลกระทบ ในโลกธุรกิจที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ บริษัทต้องทำการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ว่าจะลงทุนเพื่อลดมลพิษที่ส่วนใด ดังนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้เครื่องมือเฉพาะจึงมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยระบุว่าการลงทุนในจุดใดของกระบวนการผลิตจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากที่สุด การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้เจ้าของธุรกิจจัดลำดับความสำคัญในการใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำการตัดสินใจด้วยข้อมูลว่าจุดใดคือเป้าหมายที่จะสร้างผลกระทบสูงสุดในการลด Carbon Footprint
2.2.3 การวิเคราะห์ Supply Chain – การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ การวิเคราะห์ Supply Chain มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจเพื่อลด Carbon Footprint ผู้ผลิตสามารถค้นหาผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบที่มีการปล่อยมลพิษปริมาณต่ำภายใต้ขอบเขตของ CBAM ได้ โดยมีบริษัทผู้ให้บริการ Carbon Accounting System ต่าง ๆ เช่น Pantas และ Terrascope ที่มีบริการด้านการวิเคราะห์การปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน ที่สามารถให้ข้อมูลแก่ผู้ผลิตเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจจัดหาแหล่งวัตถุดิบจากผู้จัดจำหน่ายที่ดำเนินการโดยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
3. การดำเนินการเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน
เมื่อผู้ผลิตได้ดำเนินการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว ขั้นตอนสำคัญลำดับที่สามคือการจัดการการปล่อยมลพิษที่ยังคงเหลือไม่ว่าจะด้วยการจ่ายภาษีคาร์บอนหรือการซื้อคาร์บอนเครดิต ถึงแม้ว่าทั้งสองทางเลือกนั้นจำเป็นต้องใช้เงินลงทุน การจ่ายค่าคาร์บอนให้กับองค์กรที่สนับสนุนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมภายในประเทศของตนย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนมีความซับซ้อนที่จำเป็นต้องใช้ความรู้เฉพาะทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังไม่ได้ประกาศกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนภายใต้ CBAM เราจึงจำเป็นต้องติดตามกฎระเบียบที่จะประกาศเพิ่มเติมในไตรมาสที่สองปี 2568 อย่างใกล้ชิด
หากกฎเกณฑ์ของ CBAM อนุญาตให้ทำได้ ขอบเขตของการชดเชยการปล่อยคาร์บอนด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตจะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดขึ้นโดยสหภาพยุโรป โดยผู้ผลิตจะสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ซื้อมาหักออกจากค่าภาษีคาร์บอนที่ต้องจ่ายภายใต้ CBAM ในภาพรวมได้ จำนวนคาร์บอนเครดิตที่อนุญาตให้ซื้อได้ตามจริงจะขึ้นอยู่กับระเบียบของ CBAM และอาจแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ประเภทของอุตสาหกรรม และประวัติรายงานการปล่อยมลพิษ
ผู้ให้บริการ Carbon Credit Exchange เช่น T-VER และ Climate Impact X รวมถึง Renewable Energy Credit Exchange เช่น Innopower มักจะมีแนวปฏิบัติและการอบรมให้ความรู้เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังสามารถติดตามกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ของ CBAM ได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ CBAM เอง แหล่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการเพื่อชดเชยคาร์บอนได้อย่างราบรื่นและสอดคล้องกับข้อกำหนดของ CBAM เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้
บทบาทของสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ CBAM อย่างราบรื่น
เมื่อผู้ผลิตเริ่มดำเนินการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและปรับเปลี่ยนกระบวนการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ CBAM ผู้ผลิตจะเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยมลพิษ จึงถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการก้าวข้ามผ่านกระบวนการชดเชยคาร์บอนที่มีความซับซ้อน โดยในแต่ละขั้นตอนมีอุปสรรคเฉพาะที่ผู้ผลิตต้องเผชิญแตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของความท้าทายเหล่านี้มีจุดร่วมที่คล้ายกันคือ ความจำเป็นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อรักษาสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน ในระยะเริ่มต้นของการวัดและลดการปล่อยมลพิษ ผู้ผลิตมักจะเผชิญกับอุปสรรคด้านการเงินเพื่อลงทุนในเครื่องมือ กระบวนการ และโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยข้อจำกัดด้านการเงินนี้อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความก้าวหน้าในการดำเนินงานได้
เมื่อเรามองในอีกแง่มุมหนึ่ง ผู้ผลิตที่ต้องทำการชดเชยการปล่อยคาร์บอนจะเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของความรู้ความเข้าใจจากความซับซ้อนของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ความเข้าใจระเบียบของ CBAM และการบริหารจัดการกลยุทธ์การชดเชยการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ผลิตรู้สึกกังวลหากไม่มีความเชี่ยวชาญ
ความท้าทายเหล่านี้เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ผลิตเปลี่ยนผ่านไปสู่ CBAM ได้อย่างราบรื่น โดยสถาบันการเงินถือเป็นหน่วยงานที่อยู่ในสถานะที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายสำคัญทั้งสองประการได้ ดังนี้
|
1. การวัด |
2. การลด |
3. การทำธุรกรรม |
คำนิยาม |
การวัดคือกระบวนการประเมินและระบุปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศจากกิจกรรมของผู้ผลิต |
การลด หมายถึง การดำเนินการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการของผู้ผลิต |
การทำธุรกรรม หมายถึงกระบวนการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก |
ประเด็น |
1.1 ขาดข้อมูลที่ถูกต้อง
1.2 การใช้แรงงานจำนวนมาก |
2.1 ข้อจำกัดด้านเทคนิค
2.2 ข้อจำกัดทางการเงิน |
3.1 ขาดความรู้/ความเชี่ยวชาญ
3.2 ความซับซ้อนของระเบียบ |
บทบาทของ สถาบันการ เงิน
|
ช่วยเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีและการปรับใช้เทคโนโลยีให้แพร่หลายโดยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
1.1 ผู้ให้บริการเงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีดอกเบี้ยต่ำ
1.2 ผู้ลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศ
1.3 ผู้จัดการกองทุนเพื่อความยั่งยืน
1.4 พันธมิตรในการให้บริการเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศ |
สร้างเสริมทักษะความรู้ให้ผู้ประกอบการด้วยทรัพยากรขององค์กร
2.1 ผู้สอนและให้ความรู้
2.2 ผู้ให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนแก่ลูกค้า
2.3 ศูนย์รวมทรัพยากรทางเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือ |
การแก้ไขความท้าทายด้านเงินทุนสำหรับเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศ
1. ผู้ให้บริการเงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีดอกเบี้ยต่ำ: สถาบันการเงินสามารถยื่นมือเข้าช่วยได้ด้วยการเสนอเงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมดอกเบี้ยต่ำให้กับทั้งลูกค้ารายย่อยและบริษัทที่มองหาเงินทุนเพื่อพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมาใช้งาน การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้มีสิทธิ์กู้เงินและแนวปฏิบัติในการตรวจสอบการใช้เงินทุนที่ชัดเจนจะทำให้มั่นใจได้ว่า การใช้เงินทุนเพื่อการลดการปล่อยมลพิษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังสามารถร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจเชิงนโยบายแก่ผู้ผลิตที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ CBAM ได้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธนาคารหลายแห่งทั่วโลกได้เริ่มให้กู้ยืมเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เช่น Deutsche Bank, OCBC, ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารกสิกรไทย
2. ผู้ลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศ: สถาบันการเงินสามารถช่วยเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีได้โดยการร่วมลงทุนใน Startups ด้านเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศผ่านบริษัทเงินร่วมลงทุนในเครือ (Corporate Venture Capital) ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าไปเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโตในเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศในภาพรวมด้วย ตัวอย่างของสถาบันการเงินที่ให้พันธสัญญาที่จะลงทุนเพื่อการลดผลกระทบ ได้แก่ HSBC และ ธนาคารกสิกรไทย
3. ผู้จัดการกองทุนเพื่อความยั่งยืน: สถาบันการเงินมีความสามารถในการบริหารจัดการกองทุนเพื่อความยั่งยืนสำหรับการลงทุนสาธารณะ โดยสามารถมุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศหรือบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในดำเนินงานอย่างยั่งยืน การลงทุนเหล่านี้จะส่งเสริมให้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและแนวปฏิบัติการดำเนินงานอย่างยั่งยืนเติบโต สถาบันการเงินที่ได้ดำเนินการในลักษณะนี้แล้ว เช่น ธนาคารยูโอบี, Blackrock, ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกสิกรไทย
4. พันธมิตรในการให้บริการเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศ: สถาบันการเงินสามารถร่วมมือกับผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศในการนำเสนอบริการ เช่น Carbon Accounting System ในราคาที่เหมาะสม เพื่อการลดปริมาณการปล่อยมลพิษได้ ความร่วมมือในลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตที่มองหาวิธีการลดการปล่อยมลพิษสามารถเข้าถึงเครื่องมือที่จำเป็นได้มากขึ้น
การสร้างเสริมทักษะความรู้ให้ผู้ประกอบการ
1. ผู้สอนและให้ความรู้: สถาบันการเงินสามารถจัดงานสัมมนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ CBAM และหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ผลิตมีความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการชดเชยการปล่อยคาร์บอนที่มีความซับซ้อน ตัวอย่างของสถาบันการเงินที่ได้ดำเนินการในลักษณะนี้แล้ว เช่น Commonwealth Bank of Australia, Santander Bank และ ธนาคารกสิกรไทย
2. ผู้ให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนแก่ลูกค้า: สถาบันการเงินสามารถอบรมให้ความรู้แก่ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าขององค์กรให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศและ CBAM เพื่อให้คำปรึกษากับลูกค้า และให้คำแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ รวมถึงผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น HSBC และ ธนาคารกสิกรไทย
3. ศูนย์รวมทรัพยากรทางเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือ: สถาบันการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากร และจากเครือข่ายขององค์กรเพื่อจัดทำรายชื่อผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ การที่สถาบันการเงินช่วยวิเคราะห์ธุรกิจของผู้ให้บริการเหล่านี้ในเชิงลึก และแนะนำรายชื่อให้กับผู้ผลิตที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยมลพิษช่วยให้ผู้ผลิตมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ
บทสรุป
ในช่วงของการก้าวเข้าสู่ยุค CBAM ผู้ผลิตไม่ได้อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านนี้เพียงลำพัง ยังมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากที่พยายามร่วมผนึกกำลังเพื่อก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าของธุรกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สตาร์ทอัพ นักลงทุน หรือสถาบันการเงิน ความท้าทายและโอกาสที่เกิดจาก CBAM ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอุตสาหกรรมหรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการสตาร์ทอัพที่เป็นผู้นำในการใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยให้ผู้ผลิตอยู่รอดในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ สตาร์ทอัพที่ทุ่มเทเพื่อริเริ่มทำสิ่งเหล่านี้และมีวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลจะมีศักยภาพโดดเด่นในการแก้ไขความท้าทายที่ซับซ้อนของ CBAM บริการและความเชี่ยวชาญของสตาร์ทอัพ เหล่านี้จะเอื้อให้ผู้ผลิตไม่ต้องเสียเวลาสร้างเครื่องมือขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะช่วยเร่งขับเคลื่อนให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และก้าวเข้าสู่การดำเนินงานอย่างยั่งยืนได้
แม้ว่าผลกระทบของ CBAM ในระยะแรกจะดูไม่รุนแรงมากนักสำหรับภูมิภาคที่ไม่ได้จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าที่ก่อให้เกิดคาร์บอนสูงไปยังสหภาพยุโรป ผู้มีส่วนได้เสียต้องตระหนักถึงภาพรวมการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกด้วย ยุคของภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา กำลังพิจารณานำมาตรการลักษณะเดียวกันมาปรับใช้ โดยปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างการพิจารณาออกกฎหมาย Clean Competition Act ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตต้องจ่ายภาษีคาร์บอนสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนสูง ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ในปี 2567 ตัวอย่างผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยหากมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้สามารถพิจารณาได้จากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น ในปี 2565 ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กไปยังประเทศสหรัฐอเมริการวม 4,510 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมรวม 1,433 ล้านเหรียญสหรัฐ การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคแห่งการกำหนดราคาคาร์บอนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปล่อยมลพิษสำหรับภาคธุรกิจอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ในปัจจุบัน ผู้ผลิตเริ่มหันมาปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงนี้นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน ถึงแม้ว่าจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นต่อภาคธุรกิจในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาสูงขึ้นและส่งผลกระทบไปถึงผู้บริโภคในท้ายที่สุด เมื่อสังคมเริ่มมีความตื่นตัวในด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น สาธารณชนมีแนวโน้มที่จะหันมานิยมผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดคาร์บอนต่ำมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะช่วยปูทางสู่ตลาดที่คำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การปรับตัวต่อมาตรการ CBAM และความท้าทายที่เกิดขึ้นช่วยให้หลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต สตาร์ทอัพ นักลงทุน หรือสถาบันการเงิน มีโอกาสทำงานร่วมกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกสู่อนาคตที่สะอาดและยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไม่เพียงแต่จะสร้างความท้าทาย แต่ยังส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วย
ผู้เขียน: เบญจมาศ ทู้สกุล
บรรณาธิการ: วรพจน์ กิ่งแก้วก้านทอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
- https://www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2022/03/15/carbon-border-adjustment-mechanism-cbam-council-agrees-its-negotiating-mandate/
- https://kpmg.com/xx/en/home/insights/2022/08/carbon-border-adjustment-mechanism-impacts.html
- https://taxation-customs.ec.europa.eu/carbon-border-adjustment-mechanism_en
- https://www.pwc.ch/en/insights/tax/eu-deal-reached-on-the-cbam.html
- https://www.europarl.europa.eu/legislative-train/package-fit-for-55/file-carbon-border-adjustment-mechanism
- http://env_data.onep.go.th/reports/subject/view/128
- https://watchwire.ai/5-carbon-accounting-challenges-and-how-address-them/
- https://www.pwc.com/m1/en/services/tax/me-tax-legal-news/2023/eu-carbon-border-adjustment-mechanism.html
- http://www2.ops3.moc.go.th/
- https://mgronline.com/business/detail/9660000048165
- https://carboncredits.com/congress-introduces-us-cbam-clean-competition-act/