Digital Transformation คำยอดฮิตที่หลายคนได้ยินในวงการธุรกิจมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความสำคัญของ Digital Transformation เริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังเกิดวิกฤต COVID-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่ และ Digital Transformation นี้เองที่เป็นกุญแจสำคัญในการพาธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้
Digital Transformation คืออะไร
Digital Transformation คือ กระบวนการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในองค์กร ทั้งการเปลี่ยนกระบวนการทำงานและปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้องค์กรก้าวทันพฤติกรรมผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล โดยการทำ Digital Transformation แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Digitalization และ Digitization
1. Digitalization
Digitalization คือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ (Business Model) หรือเปลี่ยนกระบวนการทำงาน (Process) เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจผ่านรูปแบบธุรกิจใหม่และการค้นหาแหล่งรายได้ใหม่
2. Digitization
Digitization คือ การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล เพื่อลดการใช้ข้อมูลแบบออฟไลน์และปรับมาสู่การทำงานบน Cloud เพื่อให้ข้อมูลเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ
COVID-19 Disruption การเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่ Digital Transformation
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้หลายภาคธุรกิจได้รับผลกระทบ วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ทั้งในด้านการบริหารธุรกิจ ช่องทางการค้า และแนวทางการทำการตลาด โดยแต่ละด้านมีผลกระทบดังนี้
1. การบริหารธุรกิจ
COVID-19 ส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบการบริหารธุรกิจ เมื่อต้องรักษาระยะห่าง การทำงานที่ออฟฟิศจึงเป็นอุปสรรค ดังนั้น ผู้ประกอบการหลายรายจึงต้องหาวิธีเพื่อปรับตัว เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อตอบสนองการทำงานแบบ Work From Home และทำให้โปรแกรมการติดตามภาระงานอย่าง Asana หรือ Clickup เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารงาน เป็นต้น
2. ช่องทางการค้า
บางธุรกิจที่ต้องขายสินค้าแบบออฟไลน์หรือธุรกิจในภาคการบริการเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงหรือต้องปรับโมเดลธุรกิจใหม่ โดยหันมาจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์หรือเปลี่ยนธุรกิจเพื่อหารายได้ในช่องทางอื่นแทน
3. แนวการทำการตลาด
สำหรับแนวทางการทำการตลาดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากพฤติกรรมในการบริโภคของผู้คนเปลี่ยนไป ทำให้การทำตลาดบางประเภทถูกลดทอนความสำคัญลง เช่น
- Experiential Marketing หรือการตลาดที่ให้ความสำคัญกับการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า เช่น ธุรกิจโรงแรมที่มีจุดขายคือกิจกรรมและการบริการ แต่เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ผู้คนต้องเว้นระยะห่าง ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แนวทางการตลาดแบบนี้จึงได้รับผลกระทบโดยตรง
- Now-Oriented ของกลุ่ม Gen Y โดยคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าที่สนใจในทันที ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด แต่เมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้พฤติกรรมการซื้อจึงเปลี่ยนไป กลุ่มคน Gen Y มีแนวโน้มที่จะวางแผนการเงินมากขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ดังนั้น การทำการตลาดสำหรับคนกลุ่มนี้จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
วิกฤต COVID-19 เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ภาคธุรกิจตื่นตัวกับการนำ Digital Transformation มาปรับใช้ในองค์กร เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการภายในองค์กรและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
Digital Transformation ในยุค COVID-19 กรณีศึกษา: Locall.bkk
หากพูดถึงกรณีศึกษา (Case Study) ในการทำ Digital Transformation หลายคนคงนึกถึงบริษัทระดับโลกอย่าง Netflix ที่เปลี่ยนจากร้านเช่าวิดีโอสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือ Fujiflim ที่ปรับตัวจากธุรกิจถ่ายภาพสู่การพัฒนาเทคโนโลยีภาพถ่ายทางการแพทย์
แต่ในครั้งนี้เราจะขยับเข้ามาศึกษาการทำ Digital Transformation ในแบบฉบับจับต้องได้ด้วยแนวคิดการทำธุรกิจอันแสนเรียบง่ายแต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดอย่าง Once Again Hostel ที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนจากโฮสเทลสู่แพลตฟอร์ม Derivery Hub ที่มีชื่อว่า “Locall.bkk”
จุดเริ่มต้นของการปรับตัวทางธุรกิจเมื่อถูก COVID Disruption
ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤต COVID-19 และ Once Again Hostel ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งทางโฮสเทลได้วางแผนปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อต่อสู้กับวิกฤตในครั้งนี้ โดยโมเดลการปรับตัวในธุรกิจได้ถูกปรับออกมาเป็น 3 แนวทาง ได้แก่
1. เปลี่ยนจากการพักชั่วคราว สู่การเป็นที่พักระยะยาว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ตกค้างและให้คนไทยเช่าเพื่ออยู่อาศัย ปรับจาก Hostel สู่ Home เปลี่ยนแนวทางการบริหารให้สอดคล้องกับแผนระยะยาวมากขึ้น
2. ปรับพื้นที่ล็อบบี้ให้กลายเป็นครัวขนาดใหญ่ เพื่อให้บริการอาหารแบบ Delivery ในแบรนด์ “Once Again Hostel Presented By Rise”
3. เปลี่ยนธุรกิจด้วย Digital Transformation การปรับธุรกิจด้วยการสร้างแพลตฟอร์ม Locall.bkk บริการส่งอาหารในชุมชนสู่ประชาชนภายนอก เปลี่ยนจากธุรกิจที่พักสู่ Delivery Hub ในแบบฉบับอาหารพื้นถิ่น
ขอบคุณภาพจาก: Facebook Once Again Hostel
จากธุรกิจโฮสเทลสู่ Delivery Hub ด้วยการทำ Digital Transformation
การทำ Digital Transformation ของ Once Again Hostel เริ่มต้นจากความต้องการช่วยเหลือร้านอาหารบริเวณที่ตั้งใกล้เคียง ประกอบกับสถานที่ตั้งของโฮสเทลอยู่ในย่านที่มีร้านอาหารจำนวนมากอย่างเสาชิงช้า-ประตูผี จึงถือกำเนิด Locall.bkk เพื่อให้ทั้งโฮสเทลและชุมชนยังคงมีรายได้แม้ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้
Locall.bkk เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ซื้อ-ขายอาหารภายในชุมชน โดยทำหน้าที่รวบรวม ติดต่อประสานงานการซื้อขายระหว่างร้านอาหารกับผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Facebook และ Instragram
ขอบคุณภาพจาก: Locall Thailand
กระบวนการทำ Digital Transformation ของ Once Again Hostel
1. Digitalization
การทำ Digitalization ของ Once Again Hostel คือ การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ ปรับวิธีคิดจากธุรกิจออฟไลน์สู่ออนไลน์ นำจุดเด่นของที่ตั้งโฮสเทลมาปรับใช้ ผนวกกับความต้องการช่วยเหลือชุมชน เปลี่ยนโฮสเทลสู่แพลตฟอร์ม Food Delivery
ทั้งนี้ การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ได้สลับซับซ้อนอย่างชื่อที่สวยหรู แต่กลับเรียบง่ายและใช้ต้นทุนไม่สูง ผ่านการใช้สื่อ Social Media เป็นแพลตฟอร์มในการดำเนินงาน ไม่จำเป็นต้องสร้างเว็บไซต์หรือสร้างแอปพลิเคชันซึ่งช่วยลดต้นทุนในการปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่
2. Digitization
สำหรับการทำ Digitization ทาง Once Again Hostel ได้นำข้อมูลของร้านค้าจากออฟไลน์มาแปลงให้กลายเป็นคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับร้านและการทำการตลาดไปในตัว ทำให้ผู้คนรู้จักร้านค้าและเพิ่มโอกาสตัดสินใจซื้อ รวมทั้งยังช่วยให้สามารถปิดการขายบนแพลตฟอร์ม Locall.bkk ได้อีกด้วย
Summary
การทำ Digital Transformation เป็นอีกหนึ่งหนทางในการขับเคลื่อนธุรกิจในยุควิกฤต COVID-19 ผ่านการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ทั้งการเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปจนถึงการปรับโมเดลธุรกิจเพื่อหาช่องทางรายได้ใหม่ ซึ่งตัวอย่างของ Locall.bkk ได้แสดงให้เห็นว่าการทำ Digital Transformation ไม่ต้องลงทุนเยอะอย่างที่คิด ขอเพียงแค่มีไอเดียก็พร้อมที่จะปรับตัวและฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้ไปได้
อ้างอิง: