Entrepreneurship พัฒนาแนวคิดแบบผู้ประกอบการ ฉบับ Startup

March 17, 2021

SHARE

สำหรับคุณแล้ว การจะเป็นผู้บริหารธุรกิจที่ดีได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

ในบทความนี้เราจะพูดถึงหนึ่งในคุณสมบัติที่จะช่วยนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จที่มีขื่อว่า Entrepreneurship สิ่งนี้คืออะไร? และเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจอย่างไร? หาคำตอบได้ที่นี่!

 

Entrepreneurship สำคัญอย่างไรต่อการทำธุรกิจ

Entrepreneurship คือ ความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งแสดงออกผ่านแนวความคิดและการกระทำของแต่ละบุคคล โดยคนที่มีความเป็นผู้ประกอบการมักจะมี Entrepreneurial Mindset หรือแนวคิดของผู้ประกอบการอยู่ภายในตัว

แล้วแนวคิดของผู้ประกอบการมีลักษณะอย่างไร?

  • มี Leadership สูง เป็นผู้นำในการตัดสินใจได้อย่างดีเยี่ยม
  • มองภาพรวมธุรกิจได้รอบด้าน มีแผนการรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเสมอ
  • มีความกล้าในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
  • มองเห็นโอกาสในการต่อยอดในการสร้างธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม “คนที่มี Entrepreneurship ไม่จำเป็นต้องเป็นนักธุรกิจธุรกิจเสมอไป ใครๆ ก็สามารถมีได้แม้ไม่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง” ยกตัวอย่างเช่นพนักงานบริษัท ถ้าหากมีแนวคิดดังกล่าวก็สามารถแก้ไขปัญหา สร้างคุณค่าให้กับองค์กร และกลายเป็นคนที่มีคุณภาพภายในองค์กรนั้นๆ ได้เช่นเดียวกัน

 

ตัวอย่าง Entrepreneurship จาก 3 Founder แห่ง AirBnB

Nathan BlecharczykBrian Chesky และ Joe Gebbia สามผู้ก่อตั้ง AirBnB คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการมี Entrepreneurship อยู่ในตัว และนำมาปรับใช้จนสามารถสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้ โดยพวกเขาหาโอกาสและพัฒนาไอเดียจากรูปแบบธุรกิจบริการที่พักอาศัยอย่างโรงแรม สู่การเปลี่ยนพื้นที่ว่างภายในห้องพักให้สามารถทำเงินได้ด้วยตัวเอง

เดิมทีธุรกิจห้องพักมักจะอยู่ในรูปแบบของโรงแรม หรืออพาร์ทเมนต์ แต่พวกเขาสามารถมองเห็นโอกาสในการเปิดให้นำพื้นที่ว่าง หรือห้องว่างมาเพื่อเป็นที่พักอาศัยได้ ผ่าน Platform ของพวกเขา

ซึ่งในปัจจุบัน AirBnB มี Host กว่า 4,000,000 รายที่เปิดให้บริการที่พักภายใน Platform

AirBnB จึงสามารถเริ่มธุรกิจโรงแรมของตัวเองได้ โดยแทบจะไม่ต้องลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วยตัวเอง เพียงแค่มองหาโอกาส ใช้ความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจให้ตอบโจทย์กับลูกค้าเท่านั้น

เรามาดูตัวอย่างการใช้ Entrepreneurship เพื่อบริหารธุรกิจจาก Founder ทั้ง 3 นี้กัน

  • จุดเริ่มต้นของธุรกิจที่เริ่มต้นมาจากมุมมองที่แตกต่าง

จุดเริ่มต้นของ AirBnB เริ่มต้นจากปัญหาที่ Brian Chesky และ Joe Gebbia นั้นประสบปัญหาด้านค่าเช่าที่พักในปี 2007 จึงทำการแบ่งพื้นที่ภายในบ้านพักของตัวเองเพื่อเปิดให้คนอื่นมาเช่าพักเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียน

หลังจากที่มีคนมาเช่า พวกเขากลับได้ไอเดีย และชักชวน Nathan Blecharczyk เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ และต่อยอดมันขึ้นมาจนกลายเป็น AirBnB ขึ้น

แต่หนทางสู่ความสำเร็จนั้น กลับไม่ได้เรียบง่ายเหมือนไอเดียที่วางไว้

การเปิดตัวในปี 2008 ผลตอบรับของ AirBnB ไม่ได้ดีตามคาด ด้วยอคติจากนักลงทุนที่ว่า “ทำไมถึงต้องยอมให้คนแปลกหน้าเข้ามาพักภายในบ้านของตัวเอง”

จนกระทั่งไอเดียของพวกเขาก็เข้าตา Paul Graham ผู้ก่อตั้ง Y Combinator ทำให้พวกเขาสามารถระดมทุนจำนวนมหาศาล และกลายเป็น AirBnB อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

Note: Y Combinator คือ Startup Accerelator ที่คอยให้สนับสนุนเพื่อ “เร่ง” อัตราการเติบโตและเพิ่มมูลค่าธุรกิจ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ที่ทำให้ Dropbox และ AirBnB ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้

  • มองเห็นภาพรวมธุรกิจได้รอบด้าน และมีแผนการรองรับความเสี่ยง

อย่างที่หลายๆ คนทราบกันดี ในช่วงปีที่ผ่านมาการระบาดของ COVID-19 นั้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปยังธุรกิจท่องเที่ยว และการโรงแรม ซึ่งรวมถึง AirBnB ด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ Brian Chesky จึงตัดสินใจปรับ Service ของแอปพลิเคชันให้ตอบโจทย์กับสถานการณ์มากขึ้น โดยการให้บริการ Online Experience เช่น ท่องเที่ยวปารีส ชมคอนเสิร์ต หรือแม้แต่การเรียนทำอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด

ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 สามารถกลับมาทำกำไรได้ หลังจากที่ขาดทุนมาตลอดทั้งปี

รวมไปถึงการตัดสินใจนำ AirBnB เข้าสู่ IPO ท่ามกลางภาวะวิกฤตทั้งที่ใครๆ ก็บอกว่าเสี่ยง แต่ Brian Chesky กลับประเมินว่า หากสามารถฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ จะสามารถกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดได้อีกครั้ง

ผลจากการตัดสินใจเข้า IPO นี้ ทำให้หุ้นของ AirBnB ราคาขึ้นกว่า 2 เท่าภายในวันแรกที่เปิดตัว (ราคาเดิมอยู่ที่ 68 ดอลลาร์ ปิดตลาดในวันแรกที่ราคา 144.71 ดอลลาร์ หรือประมาณ 4,452 บาท) และได้รับการจัดอันดับให้เป็นหุ้นในกลุ่มชั้นเยี่ยม

ปัจจุบันมีนักลงทุนได้ทำการประเมินว่า ภายในปี 2024 มูลค่ากิจการของ AirBnB จะสามารถแซงหน้ากิจการโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Marriott International ที่ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทได้

นี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงการมี Entrepreneurship อยู่ในตัวของ Brian Chesky ผ่านการเลือกวิธีแก้ไขปัญหาที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบธุรกิจเดิม ในเมื่อผลิตภัณฑ์ไม่สามารถสร้างรายได้ แทนที่จะจมกับปัญหา เขาเลือกสร้างสินค้าใหม่แต่ยังคงเอกลักษณ์เดิมไปพร้อมกับมองหาเส้นทางในอนาคตของแบรนด์ไปพร้อมๆ กัน

แนวทางการพัฒนา Entrepreneurship ในตัวเอง

1. มองให้เห็นโอกาสที่อยู่รอบตัว

“โอกาสอยู่รอบตัว” ประโยคนี้ไม่ได้เป็นคำกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด การหมั่นสังเกตสิ่งรอบตัวจะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาและโอกาสที่ซุกซ่อนอยู่รอบตัว ซึ่งคนที่มีแนวคิดผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักหยิบปัญหาที่เจอ มาแก้ไขและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจต่อไป

ยกตัวอย่างกรณีของแอปพลิเคชันเรียกรถโดยสารสาธารณะชื่อดังอย่าง UBER

สำหรับต่างประเทศนั้น ในวันที่มีหิมะตกหนักจะทำให้หารถแท็กซี่นั้นยากมาก ซึ่ง Garrett Camp กับ Travis Kalanick นั้นก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน

จึงเป็นเหตุให้พวกเขาได้ไอเดียว่า “จะดีแค่ไหนถ้าสามารถเรียกรถโดยสารสาธารณะด้วยโทรศัพท์มือถือจากที่ไหนก็ได้?” และจึงนำแนวคิดนี้มาพัฒนาแอปพลิเคชัน ทำให้ UBER ถือกำเนิดขึ้น

จากโอกาสเล็กๆ ที่มองเห็นจากปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว จึงทำให้ UBER ประสบความสำเร็จอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

2. คิดแตกต่าง

ไม่เพียงแค่หมั่นสังเกตเท่านั้น แต่ Entrepreneurship ต้องคิดต่างจากคนอื่นด้วย หากทุกคนคิดเหมือนกันหมด ธุรกิจหรือนวัตกรรมก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลง ซึ่งการฝึกความคิดต่างสามารถทำได้ด้วยการตั้งโจทย์จากคนรอบตัว คอยดูว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร จากนั้นจึงลองศึกษาโจทย์ให้รอบด้านมากขึ้น และมองหาคำตอบที่ซ่อนอยู่ ก็จะช่วยฝึกนิสัยการคิดต่างได้

ยกตัวอย่างเช่น Nikos Scarlatos CEO ของ PARKGENE สตาร์ทอัพจากประเทศกรีซ ที่มองการแก้ไขปัญหาที่จอดรถไม่พอแตกต่างจากคนอื่น คนส่วนใหญ่เมื่ออยากทำธุรกิจเกี่ยวกับที่จอดรถ มักจะสร้างลานจอดรถ แต่เขามองต่าง เขามองว่าพื้นที่จอดรถนั้นมีอยู่เต็มไปหมด ขึ้นอยู่กับว่าจะจอดรถได้หรือเปล่า

ดังนั้นเขาจึงสร้าง PARKGENE แอปพลิเคชันให้เช่าที่จอดรถ เปลี่ยนพื้นที่ว่างภายในบ้านให้กลายเป็นที่จอดรถ ในรูปแบบ Peer-to-Peer นอกจากนี้ Nikos ยังพัฒนาธุรกิจให้แตกต่างด้วย Blockchain โดยสร้างเหรียญ PARKGERE ให้คนที่ใช้แอปพลิเคชันนั้นใช้ชำระค่าบริการ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทั้งด้านธุรกิจและในตลาด Cryptocurrency

3. กล้าเผชิญกับอุปสรรค

การทำธุรกิจมักมาพร้อมกับอุปสรรคเสมอ ดังนั้นคนที่ต้องการพัฒนา Entrepreneurship เมื่อเจออุปสรรคไม่ควรหนีปัญหา แต่ควรหาทางรับมือและแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผ่านอุปสรรคไปได้ ซึ่งการเผชิญอุปสรรคบ่อยครั้งจะช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์และฝึกทักษะในการแก้ไขปัญหาไปในตัว

ยกตัวอย่างเช่น Steve Jobs หลังจากโดน Apple บริษัทที่เขาก่อตั้งไล่ออกในปี 1985 แต่ด้วยความเป็นผู้ประกอบการในตัว เขาไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค โดยเขาก่อตั้ง NeXT บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยขึ้น ซึ่งสุดท้ายในปี 1997 หลังจาก Apple ประสบปัญหาทางการเงิน พวกเขาต้องยอมซื้อบริษัท NeXT เพื่อดึงตัว Steve Jobs กลับไปบริหารเหมือนเดิม

4. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน

การตั้งเป้าหมายมีไว้เพื่อให้สำรวจตัวเองว่าพัฒนามากขึ้นแค่ไหน หากเป้าหมายในการทำธุรกิจหรือการดำรงชีวิตชัดเจน จะช่วยเสริมความมั่นใจระหว่างทาง และเป็นเครื่องยืนยันว่าเส้นทางที่เลือกเดินนั้นถูกต้องแล้วโดยการตั้งเป้าหมายสามารถฝึกได้ง่ายๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆในชีวิตประจำวัน อย่างการตั้งเวลาตื่นนอนหรือการออกกำลังกาย เป็นต้น

หากจะยกใครสักคนเป็นตัวอย่างในการฝึกตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน คงหนีไม่พ้น Elon Musk เพราะชายคนนี้เป็นคนที่เอาจริงเอาจังกับเป้าหมายจนนำมาปรับใช้ในธุรกิจ อย่างล่าสุดที่เขามีเป้าหมาย ในการช่วยเหลือมนุษยชาติ จนเกิด SpaceX ธุรกิจที่ศึกษาด้านอวกาศ รวมถึงการพัฒนาบริษัทด้านพลังงานสะอาดอย่าง Tesla และ Solarcity ที่ช่วยลดการปล่อยมลภาวะ ยืดอายุโลกใบนี้ให้นานยิ่งขึ้น

5. ฝึกการตัดสินใจให้เด็ดขาด

การฝึกตัดสินใจถือเป็นหัวใจสำคัญของ Entrepreneurship เนื่องจากการทำธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดสินใจ ซึ่งการตัดสินใจส่วนใหญ่มักไม่มีโอกาสให้แก้ตัวเป็นครั้งที่สอง ดังนั้นความเด็ดขาดจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สนับสนุนการตัดสินใจ เพราะถ้าตัดสินใจผิดก็ต้องพร้อมรับมือและแก้ไข ไม่มีลังเลหรือเสียใจที่ตัดสินใจพลาดไป มีแต่การเดินหน้าแก้ไขปัญหาเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น Ben Horowiz นักลงทุนและผู้เขียนหนังสือ “The Hard Thing About Hard Things: Building a Business When There Are No Easy Answers” หนังสือที่เล่าประสบการณ์การตัดสินใจที่ยากในการทำธุรกิจหลายครั้ง ทั้งการปลดพนักงานเพื่อพยุงบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย หรือการเลือกขายหุ้นบริษัท Loudcloud เพื่อช่วยให้บริษัทรอดพ้นในวิกฤต Dot Com

โดยในการตัดสินใจแต่ละครั้งของ Ben Horowiz มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ เขาพร้อมรับมือกับผลตอบรับในการตัดสินใจเสมอ ไม่ว่าการสร้างความเชื่อมั่นใจกับพนักงานที่ยังอยู่ หรือการตระเวนขายหุ้นเพื่อให้บริษัทอยู่รอด โดยเขาได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับทักษะจำเป็นต่อประสบความสำเร็จของธุรกิจ คือ “ความสามารถในการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด ในสถานการณ์ที่ทุกทางเลือกนั้นล้วนเลวร้ายไปซะหมด”

 

Summary

Entrepreneurship หรือแนวคิดของผู้ประกอบการ เป็นสิ่งที่เสริมศักยภาพของภายในบุคคล ทั้งคนที่มีและไม่มีธุรกิจของตัวเอง หากแนวคิดนี้มีในนักธุรกิจก็จะสร้างธุรกิจที่แตกต่างหรือมีความสามารถในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าอยู่ในพนักงาน คนคนนั้นก็จะกลายเป็นคนสำคัญขององค์กร

สำหรับใครที่พบว่าตัวเองไม่มีลักษณะของ Entrepreneurship ก็อย่าเสียใจไป เพราะแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ ขอแค่เพียงตั้งใจ มีวินัย และลงมือทำอย่างจริงจัง ก็จะสามารถเพิ่มแรงผลักดันให้ไปสู่ความสำเร็จได้

ที่มา:

SHARE